วช. – สวทช. เปิดตัว 3 นักวิจัยศักยภาพสูง ประจำปี 2567
กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) โดยสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) และสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) ร่วมจัด “งานเปิดตัวนักวิจัยศักยภาพสูง ประจำปี 2567” โดย ดร.วิภารัตน์ ดีอ่อง ผู้อำนวยการ สำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) ศาสตราจารย์ ดร.ชูกิจ ลิมปิจำนงค์ ผู้อำนวยการ สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) ศาสตราจารย์ ดร.ยงยุทธ ยุทธวงศ์ และศาสตราจารย์กิตติคุณ นพ.สุทธิพร จิตต์มิตรภาพ ร่วมแถลงข่าวเปิดตัว 3 นักวิจัยศักยภาพสูง จากการสนับสนุนจากทุนส่งเสริมกลุ่มวิจัยศักยภาพสูง ประจำปี 2567 และโครงการวิจัยที่กำลังจะดำเนินการ รวมถึงผลลัพธ์ที่คาดว่าจะเกิดขึ้นในอีก 3 ปีข้างหน้า โดยมีคณะกรรมการทุนส่งเสริมกลุ่มวิจัยศักยภาพสูง ผู้บริหาร วช. ผู้บริหาร สวทช. ผู้บริหารต้นสังกัดนักวิจัย นักวิจัย ผู้ทรงคุณวุฒิ และแขกผู้มีเกียรติ เข้าร่วมงาน เมื่อวันที่ 26 สิงหาคม 2567 ณ ห้อง Lotus Suite 3-4 ชั้น 22 บางกอกคอนเวนชันเซ็นเตอร์ เซ็นทรัลเวิลด์ กรุงเทพฯ
ดร.วิภารัตน์ ดีอ่อง ผู้อำนวยการ สำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) กล่าวว่า วช. ให้ความสำคัญในการส่งเสริมและสนับสนุนการพัฒนาบุคลากรด้านการวิจัยและนวัตกรรม ซึ่งเป็นหนึ่งในพันธกิจสำคัญของ วช. โดยในปี 2567 วช. ร่วมกับ สวทช. เปิดรับข้อเสนอการวิจัยและนวัตกรรม “ทุนส่งเสริมกลุ่มวิจัยศักยภาพสูง” ทางด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี หรือด้านสังคมศาสตร์ หรือด้านมนุษยศาสตร์ โดยมุ่งเน้น 4 ด้าน ได้แก่ 1) ส่งเสริมการพัฒนาศักยภาพของนักวิจัยไทย เพื่อให้เกิดกลุ่มวิจัยที่เข้มแข็ง ทำงานเป็นทีม และมีโครงสร้างการพัฒนานักวิจัยอย่างต่อเนื่อง เชื่อมโยงตั้งแต่ระดับนักศึกษา นักวิจัยรุ่นใหม่ นักวิจัยรุ่นกลาง จนถึงนักวิจัยอาวุโส 2) สร้างและบูรณาการองค์ความรู้ เพื่อสร้างผลกระทบ และความเปลี่ยนแปลงอย่างเป็นรูปธรรม โดยสอดคล้องกับความจำเป็นและความต้องการของประเทศ 3) สร้างโอกาสการวิจัยและการใช้ประโยชน์ในมิติต่าง ๆ เช่น ด้านวิชาการ ด้านเศรษฐกิจ ด้านสังคมและชุมชน ด้านนโยบาย และ 4) สร้างเครือข่ายการวิจัยระดับชาติ และระดับนานาชาติ เพื่อผลักดันผลผลิตงานวิจัย รวมถึงการสื่อสารข้อค้นพบทางวิชาการให้กับสังคมและชุมชน และการตอบสนองต่อปัญหาวิกฤติเร่งด่วนของประเทศ
นักวิจัยศักยภาพสูง ประจำปี 2567 ที่ได้รับการสนับสนุน ได้แก่ ศาสตราจารย์ ดร.ธีรภาพ เจริญวิริยะภาพ จากสาขาวิทยาศาสตร์ชีวภาพ ศาสตราจารย์ ดร.วันชัย มาลีวงษ์ จากสาขาวิทยาศาสตร์การแพทย์สุขภาพ และศาสตราจารย์ ดร.อลิศรา เรืองแสง จากสาขาวิศวกรรมและเทคโนโลยี งบประมาณรวมไม่เกิน 15 ล้านบาทต่อโครงการ ระยะเวลาดำเนินงาน 3 ปี ปัจจุบันทุนส่งเสริมกลุ่มวิจัยศักยภาพสูงนี้ดำเนินการต่อเนื่องมาเป็นปีที่ 3 ให้การสนับสนุนไปแล้ว รวมทั้งสิ้น 9 โครงการ
ศาสตราจารย์ ดร.ชูกิจ ลิมปิจำนงค์ ผู้อำนวยการ สวทช. กล่าวว่า สวทช. เป็นหน่วยงานที่ดูแลและบริหารจัดการทุนส่งเสริมกลุ่มวิจัยศักยภาพสูง โดยอาศัยกระบวนการบริหารจัดการงานวิจัยและกลไกบริหารโครงการวิจัยขนาดใหญ่ที่ สวทช. มีอยู่ รวมถึงการใช้ทรัพยากรและกระบวนการของ สวทช. ไม่ว่าจะเป็นฐานนักวิจัย โครงสร้างพื้นฐานด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี หรือกลไกบริหารโครงการวิจัย โดยความร่วมมือระหว่าง วช. และ สวทช. จะเป็นกลไกสำคัญในการเสริมสร้างความเข้มแข็งให้กับระบบนิเวศวิจัยและนวัตกรรมของประเทศ รวมทั้งพัฒนาศักยภาพของบุคลากรวิจัยได้อย่างมีประสิทธิภาพ วช. และ สวทช. จะร่วมดำเนินการพิจารณาข้อเสนอโครงการวิจัย โดยใช้เกณฑ์ครอบคลุมศักยภาพของบุคลากรและคุณค่าของโครงการ ผ่านคณะกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิจากหลากหลายสาขา และผู้เชี่ยวชาญเฉพาะทาง เพื่อคัดเลือกโครงการที่มีความโดดเด่นและสามารถสร้างผลกระทบเชิงบวกต่อประเทศอย่างแท้จริง
ศาสตราจารย์ ดร.ยงยุทธ ยุทธวงศ์ อดีตรองนายกรัฐมนตรี และประธานคณะกรรมการทุนส่งเสริมกลุ่มวิจัยศักยภาพสูง กล่าวแสดงความยินดีและชื่นชมนักวิจัยและทีมวิจัยที่ได้รับทุนส่งเสริมกลุ่มวิจัยศักยภาพสูง ประจำปี 2567 การสนับสนุนทุนส่งเสริมกลุ่มวิจัยศักยภาพสูง มีความสำคัญอย่างยิ่งในการสร้างทีมวิจัยที่แข็งแกร่ง และพัฒนาผลงานวิจัยที่มีคุณภาพ รวมถึงการนำความรู้และความเชี่ยวชาญที่ได้รับไปเชื่อมโยงกับภาคส่วนต่าง ๆ ซึ่งไม่เพียงตอบโจทย์ปัญหาและความต้องการของประเทศ แต่ยังส่งเสริมการเติบโตของนักวิจัยจากรุ่นสู่รุ่น และจะเป็นแรงบันดาลใจให้กับนักวิจัยท่านอื่น ๆ ในการพัฒนางานวิจัยและนวัตกรรมที่มีคุณค่า ซึ่งจะช่วยตอบโจทย์ท้าทายของสังคม และสนับสนุนการพัฒนาประเทศอย่างยั่งยืน
ศาสตราจารย์กิตติคุณ นายแพทย์สุทธิพร จิตต์มิตรภาพ ประธานคณะกรรมการทุนส่งเสริมกลุ่มวิจัยศักยภาพสูง กล่าวแสดงความยินดีอย่างยิ่งกับนักวิจัยทั้งสามท่านและทีมวิจัย ที่ได้รับทุนส่งเสริมกลุ่มวิจัยศักยภาพสูง ซึ่งล้วนเป็นนักวิจัยระดับแนวหน้าของประเทศที่มีผลงานวิจัยโดดเด่นและเป็นที่ยอมรับ ทุนวิจัยนี้มีบทบาทสำคัญในการสร้างทีมวิจัยที่เข้มแข็งที่มีศักยภาพระดับในและต่างประเทศ ซึ่งการทำงานเป็นทีมย่อมสร้างผลงานที่มีผลกระทบสูงและสามารถขยายผลได้อย่างกว้างขวางมากกว่าการทำงานเพียงลำพัง นอกจากนี้ยังกล่าวถึงความสำคัญของการสนับสนุนจากหน่วยงานต้นสังกัดเป็นสิ่งสำคัญที่ช่วยให้นักวิจัยก้าวข้ามอุปสรรค บรรลุเป้าหมาย นอกจากนี้ ยังมุ่งหวังให้ทีมวิจัยเหล่านี้เป็นคลังสมองของประเทศ เพื่อสร้างสรรค์องค์ความรู้ใหม่ ๆ ขยายบทบาทสู่เวทีนานาชาติ และเสริมสร้างชื่อเสียงให้กับประเทศไทย
ภายในงาน ยังมีการแถลงงานวิจัยของนักวิจัยศักยภาพสูง ประจำปี 2567 และแสดงนิทรรศการเกี่ยวกับโครงการวิจัยดังกล่าว โดยผู้ได้รับทุนส่งเสริมกลุ่มวิจัยศักยภาพสูง ประจำปี 2567 จำนวน 3 ท่าน ได้แก่
1. รศ.ดร.อุไรวรรณ อรัญวาสน์ คณะวิทยาศาสตร์ ม.เกษตรศาสตร์ เป็นผู้บรรยายแทนศาสตราจารย์ ดร.ธีรภาพ เจริญวิริยะภาพ สังกัด มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ โครงการ “มาลาเรียลิงที่ติดต่อมาถึงคน : บทบาทของยุงพาหะและลิงหางยาว และการพัฒนาแผนที่ทำนายความเสี่ยงของโรคอุบัติใหม่ในประเทศไทย” โดยศึกษาปัจจัยที่ก่อโรคมาลาเรียลิงที่ติดต่อมาถึงมนุษย์ โดยการศึกษายุงพาหะ ลิงหางยาว คน เชื้อมาลาเรีย ไปพร้อม ๆ กัน และตัวอย่างการควบคุมยุงพาหะนำโรค การสนับสนุนข้อมูลวิชาการที่เป็นประโยชน์ในการบริหารจัดการให้แก่ภาครัฐ เพื่อสนับสนุนโครงการควบคุมโรคมาลาเรียในประเทศไทยต่อไป
2. ศาสตราจารย์ ดร.วันชัย มาลีวงษ์ สังกัด มหาวิทยาลัยขอนแก่น โครงการ “กลุ่มวิจัย : สร้างองค์ความรู้ใหม่ของโรคติดเชื้ออุบัติใหม่และอุบัติซ้ำ โรคติดเชื้อในเขตร้อนที่ถูกละเลยและโรคที่นำโดยพาหะแบบบูรณาการวิจัย เพื่อพัฒนาผลิตนวัตกรรมใหม่สู่การประยุกต์ใช้เชิงพาณิชย์และการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์เพื่อสังคมไทยที่ยั่งยืน” โดยมุ่งเน้นการประยุกต์การวิจัย สร้างองค์ความรู้ใหม่ของโรคติดเชื้ออุบัติใหม่และอุบัติซ้ำ โรคติดเชื้อในเขตร้อนที่ถูกละเลย และโรคที่นำโดยพาหะแบบบูรณาการวิจัย ซึ่งนำไปสู่การวินิจฉัย การรักษา และป้องกันที่มีประสิทธิภาพสูง
3. ศาสตราจารย์ ดร.อลิศรา เรืองแสง สังกัด มหาวิทยาลัยขอนแก่น โครงการ “การพัฒนาเทคโนโลยีการผลิตเชื้อเพลิงชีวภาพและชีวเคมีภัณฑ์จากชีวมวลและวัสดุเหลือทิ้งจากอุตสาหกรรมอ้อยและน้ำตาล ภายใต้แนวทางเศรษฐกิจชีวภาพ-เศรษฐกิจหมุนเวียน-เศรษฐกิจสีเขียว” โดยแบ่งเป็น 2 แพลตฟอร์มหลัก ได้แก่ แพลตฟอร์มพลังงานชีวภาพที่มุ่งผลิตไฮโดรเจน มีเทน และไบโอไฮเทน และแพลตฟอร์มชีวเคมีภัณฑ์ที่มุ่งผลิตสารเคมีมูลค่าสูง เช่น กรดไขมันและพอลิเมอร์ชีวภาพ โดยได้รับความร่วมมือจากภาคอุตสาหกรรม โดยเฉพาะบริษัท มิตรผลวิจัย พัฒนาอ้อยและน้ำตาล จำกัด ในการนำผลงานวิจัยไปใช้ประโยชน์จริง
ทั้งนี้ผลงานที่จะเกิดขึ้นภายใต้การดำเนินงานของนักวิจัยศักยภาพสูงทั้ง 3 ท่าน มุ่งเน้นผลสำเร็จ ที่สามารถนำไปใช้ประโยชน์ในมิติต่าง ๆ ทั้งมิติด้านวิชาการ ด้านเศรษฐกิจ และด้านนโยบาย เพื่อใช้เป็นกลไกในการพัฒนาและแก้ปัญหาเร่งด่วนสำคัญของประเทศ ภายใต้ยุทธศาสตร์ที่ 4 การพัฒนากำลังคนและสถาบันด้านวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมให้เป็นฐานการขับเคลื่อนการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมของประเทศแบบก้าวกระโดดและอย่างยั่งยืน โดยใช้วิทยาศาสตร์ การวิจัยและนวัตกรรม