วช. ร่วมกับ HTAPC นำชุดความรู้ด้านผลกระทบสุขภาพจากฝุ่น PM2.5 รับมือกับมลพิษทางอากาศ ด้วยวิจัยและนวัตกรรม
สำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) จัดการเสวนา “รู้ทันผลกระทบสุภาพจากฝุ่น PM2.5 ร่วมกับ ศูนย์รวมผู้เชี่ยวชาญด้านมลพิษอากาศและภูมิอากาศ (Hub of Talents of Air Pollution and Climate – HTAPC) โดยมี ดร.วิภารัตน์ ดีอ่อง ผู้อำนวยการ สำนักงานการวิจัยแห่งชาติ เป็นประธานเปิดการเสวนาในครั้งนี้ ณ ศูนย์สารสนเทศกลางด้านวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม ชั้น 1 อาคาร วช. 8 สำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) เมื่อวันที่ 8 มกราคม 2568
ดร.วิภารัตน์ ดีอ่อง ผู้อำนวยการ สำนักงานการวิจัยแห่งชาติ กล่าวถึง วช. ในฐานะหน่วยงานบริหารจัดการทุนวิจัยและนวัตกรรมตามแผนงานสำคัญของประเทศ ให้ความสำคัญกับ “การแก้ไขปัญหามลพิษด้านฝุ่นละอองขนาดเล็ก PM2.5” โดย วช. ส่งเสริมสนับสนุนงานวิจัยและนวัตกรรมเชิงรุกที่ช่วยแก้ไขปัญหาฝุ่นละออง (PM2.5) ในพื้นที่ที่ได้รับผลกระทบและมีความเสี่ยงสูง และร่วมกับเครือข่ายนักวิจัย สถาบันวิจัย และหน่วยงานต่าง ๆ ในการช่วยกันขับเคลื่อนผลผลิตและผลสำเร็จจากผลงานวิจัยและนวัตกรรมไปสู่การใช้ประโยชน์ที่เหมาะสมกับพื้นที่ รวมทั้งมีการต่อยอด ขยายผลกับชุมชนและหน่วยงานผู้ใช้ประโยชน์ทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง
โดยที่ผ่านมา วช. ได้สนับสนุนทุนวิจัยและนวัตกรรม เพื่อลดการปลดปล่อย PM2.5 จากแหล่งกำเนิด และจำนวนวันที่มีปริมาณ PM2.5 เกินค่ามาตรฐานลดลง จึงกำหนดกรอบวิจัยและนวัตกรรมขึ้น จนเกิดเป็นผลงานวิจัยและนวัตกรรมที่สามารถนำไปใช้ประโยชน์ และนำไปสู่เป็น “ศูนย์รวมผู้เชี่ยวชาญด้านมลพิษอากาศและภูมิอากาศ” หรือ HTAPC ภายใต้แผนงานการพัฒนาการเป็นศูนย์กลางกำลังคนระดับสูง (Hub of Talent) และศูนย์กลางการเรียนรู้ (Hub of Knowledge) โดยการจัดเสวนาในครั้งนี้เพื่อสร้างความตระหนักรู้เกี่ยวกับผลกระทบทางสุขภาพจากฝุ่น PM2.5 ให้กับประชาชน เพื่อเฝ้าระวังผลกระทบที่จะเกิดขึ้นสุขภาพอีกด้วย
ภายในงานมีการเสวนาในหัวข้อ “รู้ทันผลกระทบสุขภาพจากฝุ่น PM2.5” และมีการเสวนาในหัวข้อย่อยต่าง ๆ ดังนี้
- เรื่อง “สถานการณ์ฝุ่น PM2.5 ในประเทศไทย” โดย ดร.สุพัฒน์ หวังวงศ์วัฒนา ผู้อำนวยการ ศูนย์รวมผู้เชี่ยวชาญด้านมลพิษอากาศและภูมิอากาศ
- เรื่อง “ผลกระทบสุขภาพจากฝุ่น PM2.5” โดย รองศาสตราจารย์ ดร.นพ.บุญรัตน์ ทัศนีย์ไตรเทพ คณะแพทยศาสตร์ ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล
- เรื่อง “ผลกระทบสุขภาพจากฝุ่น PM2.5 ในกลุ่มเด็ก” โดย อาจารย์ พญ.รัชนีวรรณ สินิทธ์กุล คณะแพทยศาสตร์ โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล
- เรื่อง “มาตรการรับมือกับผลกระทบสุขภาพจากฝุ่น PM2.5 ที่อาจจะเกิดขึ้นกับประชาชนของกระทรวงสาธารณสุข” โดย คุณนัยนา ใช้เทียมวงศ์ ผู้อำนวยการ กองประเมินผลกระทบต่อสุขภาพ กรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข
ทั้งนี้ การเสวนาครั้งนี้มีเป้าหมายเพื่อการเสวนาช่วยเพิ่มความเข้าใจในผลกระทบของ PM2.5 ต่อสุขภาพ ส่งเสริมมาตรการลดผลกระทบผ่านการวิจัยและการมีส่วนร่วมของทุกภาคส่วน และสร้างความพร้อมในการรับมือปัญหา PM2.5 ในกลุ่มเสี่ยง เช่น เด็กและผู้ป่วยเรื้อรัง