วช. ประเดิมเวทีเสวนาแรก “มหกรรมงานวิจัยแห่งชาติ 2566” ส่องทิศทางการลงทุนด้านวิจัยและนวัตกรรม เพื่อประโยชน์ในการพัฒนาประเทศ

วช. ประเดิมเวทีเสวนาแรก “มหกรรมงานวิจัยแห่งชาติ 2566” ส่องทิศทางการลงทุนด้านวิจัยและนวัตกรรม เพื่อประโยชน์ในการพัฒนาประเทศ

สำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม ร่วมกับหน่วยงานเครือข่ายในระบบวิจัยทั่วประเทศ จัดงาน “มหกรรมงานวิจัยแห่งชาติ 2566 : Thailand Research Expo 2023” ภายใต้แนวคิด “ขับเคลื่อนงานวิจัย สู่เศรษฐกิจยุคใหม่ สร้างไทยยั่งยืน” ระหว่างวันที่ 7 – 11 สิงหาคม 2566 ณ ห้องประชุมชั้น 22-23 โรงแรมเซ็นทาราแกรนด์ และบางกอกคอนเวนชันเซ็นเตอร์ เซ็นทรัลเวิลด์ กรุงเทพฯ

ประเดิมเวทีเสวนาด้วยหัวข้อ “ทิศทางการลงทุนด้านการวิจัยและนวัตกรรมเพื่อประโยชน์ด้านเศรษฐกิจและสังคมในการพัฒนาประเทศ” โดยได้รับเกียรติจากผู้นำระดับสูงที่เป็นเสาหลักด้านการขับเคลื่อนงานวิจัย การพัฒนาประเทศไทย และภาคอุตสาหกรรม ประกอบด้วย ศ.กิตติคุณ นพ.สุทธิพร จิตต์มิตรภาพ ประธานกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม คุณวิโรจน์ นรารักษ์ รองเลขาธิการสภาพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ คุณเกรียงไกร เธียรนุกูล ประธานสภาอุตสาหกรรม และ ดร.กิติพงค์ พร้อมวงค์ ผู้อำนวยการ สภานโยบายการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมแห่งชาติ (สอวช.) ดำเนินรายการ โดย ศ.ดร.พีรพงศ์ ฑีฆสกุล จากมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์

ศ.กิตติคุณ นพ.สุทธิพร จิตต์มิตรภาพ ประธานกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์วิจัยและนวัตกรรม กล่าวว่า ปีนี้เป็นปีที่ 4 ที่เราได้ปฏิรูปงานวิจัย ซึ่งยอมรับว่าในฐานะอยู่กับระบบนี้มานาน การเขียนแผนไม่ยากแต่การทำให้เกิดผลยากกว่า อย่างไรก็ตามทิศทางการลงทุนด้านการวิจัยในระยะ 2-3 ปีที่ผ่านมา นับได้ว่า สามารถขับเคลื่อนได้มากขึ้นและเป็นไปตามเป้าหมาย เราสามารถนำไปใช้ตอบโจทย์ตรงกับความต้องการทั้งด้านอาหาร การแพทย์และสุขภาพ ปัญญาประดิษฐ์และเทคโนโลยีอัจฉริยะ โดยใช้กองทุน ววน. เป็นตัวขับเคลื่อนงานวิจัย ซึ่งพร้อมที่จะให้สภาอุตสาหกรรม หอการค้า ภาคประชาสังคมและภาคการเมือง มาร่วมในการทำให้กองทุนนี้ใช้ประโยชน์ได้อย่างสูงสุด จากเดิมถ้าเรามีงบประมาณ18,000 ล้านบาท ใช้เวลาพิจารณา 3 เดือนไม่ทัน ตอนนี้เราเริ่มวิธีใหม่มาเป็นการให้เป็นกลุ่ม ทำให้เกิดความรวดเร็วและคำนึงถึงเป้าหมายการผลิตผลงานเป็นสำคัญ

คุณวิโรจน์ นรารักษ์ รองเลขาธิการสภาพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ได้ให้ฉากทัศน์แนวทางการพัฒนาว่า ปัจจุบันประเทศไทยไม่ได้อยู่ Stand Alone แต่เชื่อมโยงกับโลก จึงต้องคำนึงถึงการดำเนินนโยบายที่ต้องตอบโจทย์ของโลกควบคู่ไปกับของบ้านเมือง่ที่มีการเปลี่ยนแปลงไป ทั้งเรื่องสังคมผู้สูงอายุ ความก้าวหน้าทางเทคโนโลยี มิติเศรษฐกิจโลกที่ชะลอตัว ในขณะที่ 20 ปีที่ผ่านมา งบประมาณการลงทุนของประเทศลดลงจาก 40% เหลือเพียง 20% เท่านั้น โดยงบลงทุนด้านการวิจัยอยู่ที่ 1.2% จากที่ตั้งเป้าไว้ที่ 2%

อย่างไรก็ตาม ประเทศไทยตั้งเป้าไว้ว่าจะเป็นประเทศที่หลุดพ้นจากกับดักรายได้ปานกลาง เป็นประเทศพัฒนาแล้วภายใน พ.ศ. 2570 ซึ่งถ้าจะทำเช่นนั้นได้คนไทยต้องมีรายได้ตกคนละ 400,000 บาท ต่อปี และ GDP ของประเทศจะต้องอยู่ที่ 5% แต่ขณะนี้อยู่ที่ 3% ที่ผ่านมาปัญหาของประเทศไทยคือ การขาดแคลนบุคลากร และขาดแคลนเทคโนโลยี งานวิจัยจึงมีบทบาทสำคัญที่จะเข้ามาช่วยเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขัน โดยงานวิจัยและพัฒนานั้นไม่ใช่ทำให้การแข่งขันดีขึ้นเท่านั้นแต่จะต้องเป็นปัจจัยในการช่วยยกระดับและเทคโนโลยีของประเทศด้วย ซึ่งอีก 5 ปี เราควรจะทำอะไร สภาพัฒน์ฯ ได้กำหนดเป็นหมุดหมายไว้ 13 หมุดหมายในแผนพัฒนา ฉบับที่ 13 เพื่อเป็นแนวทางในการวิจัยพัฒนาประเทศอย่างชัดเจน

เช่นเดียวกับคุณเกรียงไกร เธียรนุกูล ประธานสภาอุตสาหกรรม ที่สะท้อนภาพความท้าทายของโลกยุคปัจจุบันที่มีการเปลี่ยนแปลงทางเทคโนโลยีอย่างรวดเร็วในลักษณะ Disruptive ทำให้อุตสาหกรรมหลายกลุ่มได้รับผลกระทบ สงครามการค้าระหว่างจีนและสหรัฐอเมริกา สงครามระหว่างรัสเซียกับยูเครน ทำให้ห่วงโซ่ต่าง ๆ เป็นปัญหา รวมถึงพลังงานที่มีราคาสูง จนถึงปัญหาโลกร้อนที่ทำให้ประเทศต่าง ๆ ต้องกำหนดนโยบาย Net zero

สำหรับความท้าทายในประเทศ ได้แก่ ปัญหาความเชื่อมั่นในภาคอุตสาหกรรมขณะนี้ลดลงทุกด้าน การส่งออกติดลบ และประเทศไทยเป็นประเทศที่ติดอยู่กับกับดักรายได้ปานกลางมานานมากและใช้แรงงานเป็นหลัก ซึ่งหากยังเป็นอุตสาหกรรมแบบนี้เราจะไม่สามารถไปสู่ประเทศที่พัฒนาได้เลย ดังนั้น สภาอุตสาหกรรม จึงได้เตรียมปรับแผนการขับเคลื่อนภาคอุตสาหกรรมใหม่ โดยเปลี่ยนวิธีคิดทำน้อยได้มาก ด้วยการใช้เทคโนโลยี เป็นอุตสาหกรรม Next Gen ที่จะมีทั้ง New S-Curve BCG โดยมีทิศทางเน้นด้านความยั่งยืน อุตสาหกรรมสีเขียวและสะอาด เป็นหลักสำคัญ

ดร.กิติพงค์ พร้อมวงค์ ผู้อำนวยการ สภานโยบายการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมแห่งชาติ (สอวช.) กล่าวว่า ปีนี้ขีดความสามารถทางการแข่งขันของไทยทั้งในด้านวิทยาศาสตร์และการศึกษาลดลง ในขณะที่เราตั้งเป้าหมายว่าใน พ.ศ. 2570 ประเทศไทยจะลงทุนงบวิจัยให้ได้ 2% ซึ่งเท่ากับว่า ภายใน 5 ปี เราจะต้องลงทุนด้านวิจัยเพิ่ม 3 แสนล้านบาทหรือปีละ 6 หมื่นล้านบาท เพื่อที่จะทำให้ประเทศไทยหลุดพ้นจากการเป็นประเทศรายได้ปานกลาง

ซึ่งเราจะสามารถทำได้ด้วยการใช้บริษัทที่มีนวัตกรมาขับเคลื่อน ใช้เศรษฐกิจเชิงสร้างสรรค์ที่มีวัฒนธรรมของเรามาใส่นวัตกรรมเพื่อสร้างมูลค่าโดยเฉพาะงานด้านดิจิทัลคอนเทนต์ ซึ่งถ้าหันมาพัฒนาได้จะสร้างมูลค่าได้ถึง 5 แสนล้านบาท รวมถึงเรื่อง Net Zero ซึ่งถ้าเราไปต่อไม่ได้ จะขยับต่อไปไม่ได้เลย อย่างไรก็ตาม สิ่งที่เรากำลังทำอย่างเร่งด่วนในขณะนี้คือ การสร้างบุคลากรและพัฒนาคนให้ตอบสนองด้านการค้าและการลงทุนเติบโตอย่างรวดเร็วโดยการทำแพลตฟอร์มและเปลี่ยนผ่านระบบการศึกษาด้วยวิธีแซนด์บอกซ์ ซึ่งไม่ต้องรอจบการศึกษา 4 ปี ก็สามารถเข้าไปทำงานในภาคอุตสาหกรรมตามความต้องการของตลาดได้เลย

Loading

Share this post


เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

ตั้งค่าความเป็นส่วนตัว

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
จัดการความเป็นส่วนตัว
  • เปิดใช้งานตลอด

บันทึกการตั้งค่า