วช. จัดเสวนา “สามวัย : เตรียม พร้อม เกษียณ” ในมุมมองคนทำงาน วัยก่อนและหลังเกษียณ
สำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม จัดงานเสวนา เรื่อง “สามวัย : เตรียม พร้อม เกษียณ”ในงาน “วันคล้ายวันสถาปนา วช. ครบรอบ 63 ปี” มีผู้เข้าร่วมเสวนาประเด็นเตรียมความพร้อมของคนสามวัย สามอาชีพ สามมุมมอง ได้แก่ รศ.ดร.จงจิตต์ ฤทธิรงค์ รองผู้อำนวยการฝ่ายพัฒนาคุณภาพหลักสูตร สถาบันวิจัยประชากรและสังคม มหาวิทยาลัยมหิดล ผู้แทน มุมมองวัยทำงาน, คุณสุกัญญา ไชยภาษี บรรณาธิการข่าวอาเซียน TNN ช่อง 16 ผู้แทน มุมมองวัยก่อนเกษียณ และคุณอรุณี ศรีโต นายกสมาคมส่งเสริมสิทธิชุมชนเพื่อการพัฒนา (สชพ.) ผู้แทน มุมมองวัยเกษียณ
โดย รศ.ดร.จงจิตต์ ฤทธิรงค์ รองผู้อำนวยการฝ่ายพัฒนาคุณภาพหลักสูตร สถาบันวิจัยประชากรและสังคม มหาวิทยาลัยมหิดล เปิดเผยว่า จากผลงานการวิจัยที่ได้จัดขึ้นเมื่อปี 2564 ที่ผ่านมา เกี่ยวกับการคาดหวัง การวางแผน การเตรียมตัวของประชากรผู้สูงวัย และ รูปแบบของการอยู่อาศัย ซึ่งเป็นผลงานวิจัยที่ได้รับการสนับสนุนจาก วช. โดยมีมหาวิทยาลัยมหิดล เป็นผู้ดำเนินงาน ที่มีออกไปเก็บข้อมูลประชากรวัยทำงานตั้งแต่อายุ 18-59 ปี จำนวน 1,700 คนขึ้นไป ครอบคลุมทุก Generation และ ครอบคลุมทุกอาชีพ เพื่อจะรู้ว่ามุมมองของคนทำงานที่มีต่อผู้สูงอายุหรือวัยเกษียณ เป็นอย่างไร
จากผลงานวิจัยครั้งนี้พบว่า ปัจจุบันคนที่มีอายุ 60 ปี ยังมีความเป็นหนุ่มสาวไม่เชื่อว่าตนเองจะเกษียณ แล้ว ขณะที่คนรุ่นใหม่กว่า 25% มองว่าควรขยับอายุการเกษียณจากเดิม 60 ปี ไปเป็น 65 ปี และ อีก 10% คิดว่าวัยเกษียณควรอยู่ที่อายุ 70 ปี
ทั้งนี้ ถ้าให้มองลึกลงไปในแต่ละ Generation เริ่มที่ Gen X อายุระหว่าง 42-59 ปี ประชากรของวัยนี้อยากทำงานต่อ ส่วนหนึ่งเป็นสะท้อนว่าอาจมีปัญหาเรื่องการเงินที่ยังเก็บไม่พอที่จะเกษียณได้ ยกเว้นคนที่มีอาชีพเป็นข้าราชการ คนที่ทำงานภาครัฐ รู้สึกว่าอายุ 60 ปี พอแล้วไม่อยากทำงานต่อแล้วและกำลังได้เงินบำนาญใช้ จึงอยากออกมาทำงานเป็นจิตอาสา สนับสนุนงานชุมชน ขณะที่ Gen Y กับ Gen C เป็น Gen ที่มีความคิดเหมือนกั คือ อยากหยุดทำงานก่อนวัยเกษียณซึ่งตรงกันข้ามกับ Gen X และสาเหตุที่คน Gen Y กับ Gen C อยากหยุดทำงานในระบบก่อนวัยเกษียณ เพราะต้องการออกไปทำงานในสิ่งที่ชอบ
ดังนั้นการพูดถึงวัยเกษียณในแต่ละ Gen จะมีมุมมองต่างกัน แผนและนโยบายที่ภาครัฐควรออกมาดูแลเกี่ยวกับอนาคตของผู้สูงวัยในแต่ละ Gen ก็ควรมีไม่เหมือนกัน โดยคน Gen Y กับ Gen C เป็นกลุ่มที่ชอบเกี่ยวกับเรื่องการลงทุน เช่น คริปโต, อสังหาริมทรัพย์ ที่มีความเสี่ยงสูง ๆ เพื่อให้ได้ผลตอบแทนสูง ๆ ขณะที่คนกลุ่ม Gen X จะเน้นเรื่องการเก็บออม หรืออดออม เรียกได้ว่าทุก Gen เตรียมความพร้อมเข้าสู่วัยเกษียณ ต่างกันในเรื่องของการเงิน การลงทุน แต่ด้วยสภาวะเศรษฐกิจถดถอย ปัญหาเงินเฟ้อ ทำให้บางคนไม่สามารถออมเงินได้
คุณสุกัญญา ไชยภาษี บรรณาธิการข่าวอาเซียน TNN ช่อง 16 ผู้แทน มุมมองวัยก่อนเกษียณ กล่าวถึง จำนวนประชากรผู้สูงวัยในภูมิภาคอาเซียน พบว่า ประเทศมาเลเซีย มีจำนวนผู้สูงวัยร้อยละ 11 หรือ 3.5 ล้านคน พม่า 5.4 ล้านคน สิงคโปร์ 1.2 ล้านคน (นำหน้าอาเซียนเพราะมีประชากรแค่ 5 ล้านคน น้อยกว่าประเทศอื่น ๆ) ฟิลิปปินส์ 9.4 ล้านคน ไทย 12 ล้านคน เท่ากันกับเวียดนาม สิ่งที่ตามมาคือ มีการประเมินสถานการณ์ว่า จะมีผู้สูงอายุในภูมิภาคอาเซียนเกิดขึ้นปีละ 1 ล้านคน
ดังนั้นอนาคตประเทศไทยอีก 20 ปีข้างหน้า จะมีผู้สูงอายุหรือวัยเกษียณอยู่ที่ 20 ล้านคน เนื่องจากคนกลุ่ม Gen X กับ Gen Y เริ่มมีลูกน้อยลง สิ่งที่น่าสนใจคือ การเตรียมพร้อมเข้าสู่วัยเกษียณที่สามารถดูแนวทางนี้ได้จากประเทศสิงคโปร์ที่ออกกฎหมายบังคับให้ประชากรแบ่งเงินออมออกเป็น 3 ก้อน คือ 1. เงินเพื่อการลงทุน การศึกษา 2. เงินเพื่อเกษียณ 3. เงินเพื่อรักษาพยาบาล ส่วนประเทศจีน รัฐบาลสนับสนุนให้ผู้สูงวัยได้รับการศึกษาด้านการทำธุรกิจขายของผ่านออนไลน์ แทนอยู่บ้านเฉย ๆ กลับมาที่ประเทศไทย พบว่า ผู้สูงวัยยังมีฐานะยากจน ต้องออกมาขายของได้วันละไม่กี่ร้อย การช่วยเหลือด้านสวัสดิการของรัฐเบี้ยผู้สูงวัยเดือนละ 600 บาท ถือว่าไม่เพียงพอต่อชีวิตความเป็นอยู่
นอกจากนี้การทำงานของภาครัฐ มีการคิดเรื่องออมเงินช้าไป ประกอบกับจำเป็นต้องขยายเพดานการออมเงินในประกันสังคมให้สูงขึ้น ไม่ใช่ตีกรอบรายได้แค่ 15,000 บาท เท่านั้น รวมถึงที่ผ่านมา Gen X ไม่เคยเรียนรู้เรื่องการออมเงินเลย ทำให้วันนี้จำเป็นต้องเพิ่มอายุของคนวัยนี้ให้ยังได้ทำงานต่อไป ต่างจากคน Gen Y กับ Gen C มีโอกาสได้เรียนรู้เรื่องการลงทุนเร็ว ส่งผลให้สามารถเกษียณได้เร็วเนื่องจากมีเงินออมเร็ว
คุณอรุณี ศรีโต นายกสมาคมส่งเสริมสิทธิชุมชนเพื่อการพัฒนา (สชพ.) ผู้แทน มุมมองวัยเกษียณ กล่าวว่า เบี้ยผู้สูงอายุเดือนละ 600 บาท เป็นความหวังเดียวของคนกลุ่มนี้ที่ถือว่าไม่พอ และลูกหลานในปัจจุบันก็ไม่เหมือนในอดีตว่าจะเลี้ยงดูผู้สูงอายุหรือไม่ ขณะที่ท้องถิ่นมีงบประมาณที่เยอะมากแต่ไม่เคยคิดจะจัดสรรลงมาช่วยเหลือดูแลผู้สูงอายุเลย ควรทำให้เรื่องนี้ให้เป็นวาระแห่งชาติในการดูแลผู้สูงอายุ ไม่ควรมีการทอดทิ้งผู้สูงอายุ โดยเฉพาะเรื่องการไปโรงพยาบาลรัฐบาลที่ต้องไปแต่เช้าตรู่ กว่าจะกลับมาบ้านก็ 4 โมงเย็น บางวันไม่มีค่ารถโดยสารไปโรงพยาบาลเพราะเบี้ยสูงอายุยังไม่ออก ดังนั้นอยากให้ภาครัฐรณรงค์เรื่องการออมเงิน การดูแลผู้สูงอายุ มากกว่านี้ เพื่อช่วยให้คุณภาพชีวิตของผู้สูงอายุดีขึ้น
สุดท้ายกลับมาที่การเตรียมความพร้อมนอกจากเรื่องการออมเงิน คือการ Re Skill และ Up Skill เรื่องงาน เพื่อให้ยังสามารถมีงานทำ มีรายได้เลี้ยงตนเอง เหมือนประเทศจีน ที่ผู้สูงอายุไปขายของผ่านออนไลน์ และการปรับเปลี่ยนวิถีชีวิตตนเองมาอยู่ร่วมกันเป็นกลุ่มเพื่อแบ่งเบาภาะค่าใช้จ่าย การเก็บทองแทนเก็บเงินเพื่อการออม เพราะทองคำเป็นทรัพย์สินที่ต่อสู้กับสภาวะเงินเฟ้อได้ และเมื่ออายุ 40 ปี ก็ควรเก็บได้เดือนละหมื่น ในการออมใช้วันที่เกษียณอายุได้ รวมถึงการเปลี่ยนที่พักอาศัยจากเมืองหลวงไปอยู่ต่างจังหวัด เนื่องจากค่าครองชีพถูกกว่า