ม.นเรศวร ขยายพันธุ์ทุเรียนด้วยเทคนิคการเพาะเลี้ยงเนื้อเยื่อ เพื่อการอนุรักษ์พันธุกรรมทุเรียนหลงลับแล หลินลับแล และพื้นเมืองคุณภาพดีในเขตภาคเหนือตอนล่าง

ม.นเรศวร ขยายพันธุ์ทุเรียนด้วยเทคนิคการเพาะเลี้ยงเนื้อเยื่อ เพื่อการอนุรักษ์พันธุกรรมทุเรียนหลงลับแล หลินลับแล และพื้นเมืองคุณภาพดีในเขตภาคเหนือตอนล่าง

สำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม โดย ดร.วิภารัตน์ ดีอ่อง ผู้อำนวยการ สำนักงานการวิจัยแห่งชาติ ได้มอบหมายให้กลุ่มสารนิเทศและประชาสัมพันธ์ นำสื่อมวลชนเยี่ยมชมโครงการวิจัยของ “รศ.ดร.พีระศักดิ์ ฉายประสาท” และคณะ คณะเกษตรศาสตร์ ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม มหาวิทยาลัยนเรศวร ที่ได้ดำเนินงานวิจัยซึ่งได้รับการสนับสนุนโดย วช. ภายใต้โครงการอนุรักษ์พันธุกรรมพืชอันเนื่องมาจากพระราชดำริ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ สยามบรมราชกุมารี (อพ.สธ.) ในการศึกษาการขยายพันธุ์ทุเรียนในสภาพปลอดเชื้อด้วยเทคนิคการเพาะเลี้ยงเนื้อเยื่อ เพื่อให้ได้ทุเรียนที่มีลักษณะตรงตามสายพันธุ์ 100% สามารถให้ผลผลิตที่มีคุณภาพตามต้นแม่พันธุ์ ซึ่งจะช่วยเพิ่มประสิทธิภาพการขยายพันธุ์ทุเรียนในอนาคต และได้คุณภาพด้านรสชาติที่ตรงตามความต้องการผู้บริโภค

รศ.ดร.พีระศักดิ์ ฉายประสาท คณะเกษตรศาสตร์ฯ มหาวิทยาลัยนเรศวร หัวหน้าโครงการฯ กล่าวว่า คณะเกษตรศาสตร์ ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม มหาวิทยาลัยนเรศวร ได้รับการสนับสนุนทุนจาก วช. ในการศึกษาวิจัยการขยายพันธุ์ทุเรียนในสภาพปลอดเชื้อด้วยเทคนิคการเพาะเลี้ยงเนื้อเยื่อ ภายใต้โครงการอนุรักษ์พันธุกรรมพืชอันเนื่องมาจากพระราชดำริ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ สยามบรมราชกุมารี (อพ.สธ.) เพื่อการอนุรักษ์พันธุกรรมทุเรียนหลงลับแล หลินลับแล และพื้นเมืองคุณภาพดีในเขตภาคเหนือตอนล่าง เริ่มจากการคัดเลือกสายพันธุ์ทุเรียนที่มีอัตลักษณ์ในแต่ละพื้นที่ พันธุ์ทุเรียนที่มีศักยภาพทางเศรษฐกิจในอนาคต รวมถึงพันธุ์การค้าที่มีชื่อเสียง โดยทุเรียนที่ทำการทดลองมี 3 สายพันธุ์ ได้แก่ หลงลับแล หลินลับแล และพันธุ์พื้นเมือง และคุณลักษณะทางการเกษตรที่ดีและเป็นที่ต้องการของผู้บริโภค เพื่อนำมาขยายพันธุ์ด้วยเทคนิคการเพาะเลี้ยงเนื้อเยื่อพืช ทำให้สามารถเพิ่มปริมาณได้อย่างทวีคูณ ซึ่งจะส่งผลให้ทุเรียนมีคุณภาพดีสม่ำเสมอ เกษตรผู้ปลูกและผู้ประกอบการได้รับผลตอบแทนเพิ่มขึ้นอีกด้วย

สำหรับประโยชน์ที่เกษตรกรหรือผู้ประกอบการจะได้รับในการขยายพันธุ์ทุเรียนด้วยการเพาะเลี้ยงเนื้อเยื่อ ได้แก่ 1. ได้ทุเรียนที่มีลักษณะตรงตามสายพันธุ์ 100% ที่ให้ผลผลิตที่มีคุณภาพตามต้นแม่พันธุ์ เช่น ลักษณะของเนื้อ รสชาติ คงอัตลักษณ์ทุเรียนชนิดนั้น ๆ เป็นต้น 2. สามารถตอบสนองความต้องการของเกษตรกรที่มีความต้องการเพาะปลูกทุเรียนที่มีปริมาณมากในท้องตลาดได้ 3. ส่งเสริมภาคธุรกิจทุเรียนของที่มีอัตลักษณ์ในแต่ละพื้นที่ ให้มีการเติบโตมากขึ้นกว่าเดิม และ 4. สามารถสร้างผลิตผลของทุเรียนได้ตรงตามสายพันธุ์และได้คุณภาพด้านรสชาติที่ตรงตามความต้องการผู้บริโภค

ในโอกาสนี้ คณะนักวิจัยได้นำคณะสื่อมวลชนลงพื้นที่สวนประภาพรรณ ตำบลบ้านแยง อำเภอนครไทย จังหวัดพิษณุโลก เพื่อเยี่ยมผลผลิตที่ได้จากโครงการฯ โดยมี คุณเนาวรัตน์ มะลิวรรณ เกษตรกรเจ้าของสวนฯ ให้การต้อนรับและให้ความรู้เกี่ยวกับทุเรียนแก่คณะสื่อมวลชนอีกด้วย

คุณเนาวรัตน์ มะลิวรรณ เจ้าของสวนประภาพรรณ เปิดเผยว่า ในนามของสวนประภาพรรณ ต้องขอขอบคุณทาง วช. และ รศ.ดร.พีระศักดิ์ ฉายประสาท มหาวิทยาลัยนเรศวร ที่ได้นำองค์ความรู้จากงานวิจัยมาถ่ายทอดให้กับเกษตรกร ถือว่าเป็นประโยชน์อย่างยิ่ง ซึ่งงานวิจัยจาก ม.นเรศวร ได้มีส่วนช่วยให้การทำสวนทุเรียนประสบความสำเร็จ มีผลผลิตที่ดีขึ้น และสวนประภาพรรณจะเป็นต้นแบบให้กับสวนทุเรียนบริเวณใกล้เคียงได้มาศึกษาความสำเร็จจากการทำสวนทุเรียนตามแนวทางการวิจัยต่อไป

ผู้สนใจสามารถสอบถามรายละเอียดได้ที่ สวนประภาพรรณ ตำบลบ้านแยง อำเภอนครไทย จังหวัดพิษณุโลก โทร. 099-2392299 และ 092-5239369 หรือติดตามได้ทาง Facebook Fanpage : สวนประภาพรรณ จ.พิษณุโลก

Loading

Share this post


เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

ตั้งค่าความเป็นส่วนตัว

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
จัดการความเป็นส่วนตัว
  • เปิดใช้งานตลอด

บันทึกการตั้งค่า