มจธ. เร่งพัฒนา “เทคโนโลยีสู่สังคมสำหรับทุกคน (Technology for Inclusive Society)” สุดล้ำ เดินหน้าสร้างความเท่าเทียมเพื่อทุกคนในสังคม

มจธ. เร่งพัฒนา “เทคโนโลยีสู่สังคมสำหรับทุกคน (Technology for Inclusive Society)” สุดล้ำ เดินหน้าสร้างความเท่าเทียมเพื่อทุกคนในสังคม

จะดีแค่ไหนหากคนพิการสามารถทำงานเหมือนคนปกติ ตัวอยู่ที่บ้านแต่สามารถบังคับหุ่นยนต์ (Avatar) ที่เปรียบเสมือนร่างกายทำงานแทนได้จากระยะไกล คงเป็นเหมือนภาพฝันที่ไม่น่าเป็นไปได้ แต่ปัจจุบันเรื่องนี้กำลังเกิดขึ้นจริงแล้วที่ สถาบันวิทยาการหุ่นยนต์ภาคสนาม (FIBO) มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี (มจธ.)

รองศาสตราจารย์ ดร.สยาม เจริญเสียง รองอธิการบดีอาวุโสฝ่ายวิชาการ มจธ. และอดีตผู้อำนวยการ สถาบันวิทยาการหุ่นยนต์ภาคสนาม (FIBO) กล่าวว่า จากสถิติประชากรในปี 2566 ประเทศไทยมีประชากรกว่า 66 ล้านคน ในจำนวนนั้นมีคนพิการอยู่ถึง 2,180,178 คน เป็นคนพิการที่อยู่ในวัยทำงานอายุ 15 – 59 ปี จำนวน 857,117 คน แต่มีคนพิการเพียงร้อยละ 36 หรือ 311,259 คนเท่านั้นที่มีอาชีพเลี้ยงดูตัวเองได้

“อาชีพที่คนพิการทำได้ส่วนใหญ่จะเป็นงานด้านการเกษตร รับจ้างทั่วไป ซึ่งเป็นงานที่ใช้ทักษะน้อยทำให้ได้รับผลตอบแทนน้อยตามไปด้วย ดังนั้นจะทำอย่างไรให้คนพิการสามารถทำงานที่ต้องใช้ทักษะสูงขึ้น เพื่อให้ได้ค่าตอบแทนมากขึ้น และทำให้คนพิการสามารถใช้ชีวิตได้อย่างเท่าเทียมกับคนปกติให้มากที่สุด การเพิ่มทักษะด้านเทคโนโลยีและนำนวัตกรรมสมัยใหม่ เข้ามาใช้ในการเสริมศักยภาพและเพิ่มทางเลือกในการทำงานให้คนพิการ จึงเป็นแนวทางสำคัญที่ FIBO และ มจธ. มุ่งพัฒนาและนำมาใช้จริง”

มจธ. มุ่งที่จะนำเทคโนโลยีมาช่วยในการสร้างสังคมสำหรับทุกคน (Technology for Inclusive Society) โดยจะนำเทคโนโลยีมาดูแลใน 2 ส่วนหลักคือ การจัดการสภาพแวดล้อมให้ตอบรับกับบริบทการใช้ชีวิตของคนพิการ ไม่ว่าจะเป็นการเคลื่อนที่หรือการใช้ชีวิตประจำวัน โดย มจธ. ออกแบบสภาพแวดล้อมภายในให้เหมาะกับทุกคน (Universal Design) และการพัฒนานวัตกรรมเพื่อคนพิการ ให้สามารถใช้ชีวิตได้สะดวกขึ้น เช่น การสร้างแขนกลเทียมจากเครื่องพิมพ์ 3 มิติ แอปพลิเคชันตรวจจับรถโดยสารประจำทาง สำหรับคนพิการทางสายตา เป็นต้น

ปัจจุบัน FIBO ได้จัดทำโครงการนวัตกรรมเพื่อคนพิการ เพื่อการควบคุมหุ่นยนต์หยิบจับสิ่งของจากระยะไกลด้วยเทคโนโลยีความจริงเสมือน (Virtual Reality : VR) ในชื่อโครงการ VR -Avatar Shopping @ FIBO – LX Metaverse Store ที่เปิดโอกาสให้คนพิการเข้าอบรมการออกแบบโมเดล 3 มิติ และสั่งพิมพ์ 3D ผ่านเครื่องพิมพ์ 3 มิติ รวมถึงการอบรมการควบคุมหุ่นยนต์ระยะไกลผ่านระบบ Virtual Reality การอบรมนี้เป็นการนำเทคโนโลยีมาช่วยพัฒนาทักษะออกแบบโมเดล 3 มิติ และการควบคุมหุ่นยนต์ระยะไกลผ่านเทคโนโลยี Virtual Reality แก่คนพิการให้เหมาะสมกับบริบทของโลกยุคปัจจุบันและอนาคต ซึ่งการออกแบบโมเดล 3 มิติ เป็นทักษะยุคใหม่ที่เป็นที่ต้องการของตลาด ไม่ว่าจะในภาคอุตสาหกรรม งานศิลปะ ไปจนถึงงานในวงการบันเทิง ที่ยังขาดบุคลากรอีกมาก คนพิการที่ผ่านการอบรมไปแล้ว สามารถออกแบบตัวละคร 3 มิติได้ด้วยตัวเอง และพิมพ์ด้วยเครื่องพิมพ์ 3 มิติ ออกมาเป็นผลิตภัณฑ์ต้นแบบได้

ส่วนของการควบคุมหุ่นยนต์หยิบจับสิ่งของจากระยะไกลด้วยเทคโนโลยี VR นั้น รศ.ดร.สยาม เล่าว่า ระบบนี้เป็นการใช้หุ่นยนต์เป็นเสมือนแขนขา มีระบบ VR เป็นเสมือนดวงตาให้กับคนพิการ ทำให้คนพิการสามารถควบคุมให้หุ่นยนต์เลือกและหยิบจับสินค้าผ่านเครือข่ายอินเทอร์เน็ต เพื่อนำส่งไปยังผู้รับที่อยู่ห่างไกลออกไปได้ โดยที่คนพิการบังคับหุ่นยนต์อยู่ที่บ้าน

“ระบบนี้ยังไม่เคยเกิดขึ้นในประเทศไทย และถือว่าเป็นการทดสอบลำดับต้น ๆ ของโลกโดยคนพิการด้วย โดยหากมองดูระบบนี้อาจคล้ายกับหุ่นยนต์ที่เราเห็นตามร้านอาหารหรือโรงพยาบาล แต่หุ่นยนต์จะไปได้เฉพาะเส้นทางที่มีการโปรแกรมหรือกำหนดไว้เท่านั้น แต่ระบบนี้จะใช้เทคโนโลยีระบบความจริงเสมือน/ความจริงผสม เพื่อควบคุมให้หุ่นยนต์เคลื่อนที่เพื่อหยิบจับสินค้าและเคลื่อนที่ไปได้อย่างอิสระด้วยการควบคุมระยะไกลจากคนพิการเอง”

โดยในงานครบรอบ 10 ปี โครงการฝึกอบรม-ฝึกงานคนพิการฯ มจธ. “เติม…เต็ม Empower” ได้มีการทดสอบระบบการควบคุมหุ่นยนต์หยิบจับสิ่งของจากระยะไกลด้วยเทคโนโลยี VR โดยให้คนพิการส่งผลิตภัณฑ์โมเดล 3 มิติ ที่คนพิการออกแบบและพิมพ์ด้วยเครื่องพิมพ์ 3 มิติ จากอาคาร FIBO มาที่อาคารการเรียนรู้พหุวิทยาการ (LX) ซึ่งมีระยะทางห่างกันกว่า 600 เมตร โดยหุ่นยนต์ที่ควบคุมจะใช้เส้นทางร่วมกับรถยนต์ทั่วไป ซึ่งขั้นตอนการทดสอบคนพิการจะสวมแว่น VR และถือจอยสติกที่ใช้ในการควบคุมอยู่ที่อาคาร LX ชั้น 3 เพื่อควบคุมหุ่นยนต์แขนกล 2 แขนติดตั้งที่ชั้น 7 อาคาร FIBO เพื่อหยิบจับผลิตภัณฑ์โมเดล 3 มิติผ่านระบบ VR จากนั้นจะส่งต่อให้หุ่นยนต์ตัวที่ 2 ที่เป็นหุ่นยนต์เคลื่อนที่ได้ที่มีแขนติดตั้งอยู่สำหรับขนของจากชั้น 7 ลงมาที่ชั้น 1 เพื่อส่งต่อให้หุ่นตัวที่ 3 ที่เป็นหุ่นยนต์เคลื่อนที่ได้ที่มีลักษณะเป็นแบบรถส่งของ ที่ควบคุมโดยคนพิการจากชั้น 3 ตึก LX ที่จะวิ่งจากอาคาร FIBO มาส่งสินค้าให้กับผู้รับของที่ปลายทางอาคาร LX ซึ่งการทดสอบระบบผ่านพ้นไปได้เป็นอย่างดี

รศ.ดร.สยาม กล่าวว่า “ระบบต้นแบบนี้สามารถนำไปพัฒนาต่อยอดและประยุกต์ใช้งานได้หลายแบบ ทั้ง ROBO Shopping ที่เมื่อมีผู้สั่งซื้อสินค้า คนพิการสามารถสั่งหุ่นยนต์ให้ไปหยิบสินค้าจากชั้นวางมา เพื่อจัดส่งให้ผู้ซื้อได้ ROBO Cafe ที่ให้คนพิการเข้ามาเป็นผู้ให้บริการในคาเฟ ซึ่งสามารถหยิบสินค้า เสิร์ฟสินค้า และพูดคุยกับลูกค้าผ่านหุ่นยนต์ได้ ซึ่งจะช่วยให้คนพิการมีปฏิสัมพันธ์กับลูกค้าได้ด้วยตัวเอง เกิดสังคมใหม่แก่คนพิการขึ้น สุดท้ายคือ ROBO Society Service ที่คนพิการสามารถควบคุมหุ่นยนต์ให้ทำงานแทนในด้านต่าง ๆ ได้มากขึ้น”

“สิ่งที่ FIBO และ มจธ. กำลังเดินหน้าอยู่นี้ไม่ใช่เรื่องไกลตัวอีกต่อไป หุ่นยนต์จะเข้ามามีบทบาทมากขึ้นในอนาคตอันใกล้ การเตรียมความพร้อมและเสริมทักษะให้คนพิการตั้งแต่ตอนนี้ จะช่วยให้คนพิการมีโอกาสการทำงานที่มากขึ้น เป็นงานที่ใช้ทักษะสูงขึ้น ซึ่งจะทำให้ได้ค่าตอบแทนที่มากขึ้นด้วย ทำให้เพียงพอต่อการมีคุณภาพชีวิตที่ดี ที่สำคัญเทคโนโลยีเหล่านี้ทำให้คนพิการได้แสดงศักยภาพที่มีอยู่ในตัวเองออกมา ให้สังคมได้เห็นว่าคนพิการไม่ได้ด้อยกว่าใคร แต่มีศักยภาพเท่าเทียมกับคนปกติทั่วไป”

โครงการนวัตกรรมเพื่อคนพิการเพื่อการควบคุมหุ่นยนต์หยิบจับสิ่งของจากระยะไกล ด้วยเทคโนโลยีความจริงเสมือน (Virtual Reality : VR) ในชื่อโครงการ VR -Avatar Shopping @ FIBO – LX Metaverse Store นอกจากได้นำจัดแสดงในงานครบรอบ 10 ปี โครงการฝึกอบรม-ฝึกงานคนพิการฯ มจธ. เติม…เต็ม Empower” เมื่อวันที่ 27 ตุลาคม 2566 ณ อาคารการเรียนรู้พหุวิทยาการ (LX) มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี โดยมีคุณวราวุธ ศิลปอาชา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ มาเป็นประธานในงานแล้ว ยังได้ถูกนำจัดแสดงใน “นิทรรศการผลงานของกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) เพื่อต้อนรับคุณอนุทิน ชาญวีรกุล รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย ในโอกาสตรวจเยี่ยมและมอบนโยบายกระทรวงฯ เมื่อวันที่ 13 พฤศจิกายน 2566 ณ บริเวณชั้น 1 อาคารพระจอมเกล้า กระทรวง อว. นอกจากนี้ ยังได้รับการติดต่อให้ร่วมนำผลงานจัดแสดงใน “งานคนพิการสากล 2566” เมื่อวันที่ 30 พฤศจิกายน- 1 ธันวาคม 2566 ณ ศูนย์ราชการเฉลิมพระเกียรติ 80 พรรษา 5 ธันวาคม 2550 (ศูนย์ราชการแจ้งวัฒนะ) โดยมีคุณอนุกูล ปีดแก้ว ปลัดกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ เป็นประธานเปิดงาน และที่สำคัญทางฟีโบ้ มจธ. ยังประยุกต์ใช้ระบบหุ่นยนต์ Avatar ที่พัฒนาขึ้น เพื่อให้คนพิการที่อยู่ที่ มจธ. เข้ามาควบคุมหุ่นยนต์เคลื่อนที่ระยะไกลผ่านเครือข่ายอินเทอร์เน็ต ได้ใช้ในการพูดคุย แนะนำประชาสัมพันธ์ผ่านวิดีโอคอล และแจกขนมเค้กที่ทำโดยคนพิการแก่แขกที่มาร่วมงาน Play Fun Fest : Coding ERA เมื่อวันที่ 12 – 14 มกราคม 2567 ณ ลาน Work & Play ชั้น 1 ศูนย์การค้าเซ็นทรัลพระราม 9 อีกด้วย นับเป็นการประยุกต์ใช้งานจริงของระบบหุ่นยนต์ Avatar สำหรับคนพิการเป็นครั้งแรกของประเทศไทย

Loading

Share this post


เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

ตั้งค่าความเป็นส่วนตัว

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
จัดการความเป็นส่วนตัว
  • เปิดใช้งานตลอด

บันทึกการตั้งค่า