พันธมิตร สกสว. จี้ทบทวนการพัฒนากำลังคนทักษะสูง หวังเปิดล็อกเทคโนโลยี-นวัตกรรมตอบโจทย์ประเทศ

พันธมิตร สกสว. จี้ทบทวนการพัฒนากำลังคนทักษะสูง หวังเปิดล็อกเทคโนโลยี-นวัตกรรมตอบโจทย์ประเทศ

สกสว. พร้อมพันธมิตรภาคการศึกษา รัฐ และเอกชน สะท้อนความจำเป็นในการเร่งสร้างกำลังคนทักษะสูง หวังเปิดล็อกให้เกิดการพัฒนาเทคโนโลยีและนวัตกรรม สร้างบัณฑิตและนักวิจัยที่ตรงกับความต้องการของตลาดและตอบโจทย์การพัฒนาประเทศ

รศ.ดร.คมกฤต เล็กสกุล ผู้อำนวยการ กลุ่มภารกิจการพัฒนาวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (ววน.) ด้านกำลังคนและสถาบันความรู้ สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์วิจัยและนวัตกรรม (สกสว.) เปิดเผยภายหลังการเสวนา “ทบทวน ไปต่อกับการสนับสนุนการสร้างกำลังคน ววน. และเสียงของกำลังคนดี ประเทศมีอนาคตอย่างไร” ณ อาคารรัฐสภา เพื่อสะท้อนความจำเป็นของการพัฒนากำลังคนด้าน ววน. รวมถึงการสร้างกำลังคนทักษะสูงของประเทศไทยและกำลังคนในสาขาที่จำเป็นว่า ต้องให้ความสำคัญและเร่งพัฒนานักวิจัยและบุคลากรทักษะสูง เพื่อตอบโจทย์ความต้องการตามยุทธศาสตร์ของแผนด้าน ววน. ด้านอุตสาหกรรม สังคมและสิ่งแวดล้อม และการวิจัยเพื่ออนาคต รวมถึงการพัฒนากำลังคนตามความสามารถหรือความถนัดของนักวิจัย โดยเน้นปัญญาประดิษฐ์  สารกึ่งตัวนำ ชีวสารสนเทศศาสตร์ คาร์บอนเครดิต การวิจัยขั้นแนวหน้า เช่น เทคโนโลยีพลาสมา

“การพัฒนากำลังคนคือ หัวใจหลักของการพัฒนาประเทศ นักวิจัยและบุคลากรทักษะสูงเป็นกุญแจสำคัญที่เปิดล็อกให้เกิดการพัฒนาเทคโนโลยีและนวัตกรรม อย่างไรก็ตามนักวิจัยและบุคลากรทักษะสูงเพียงสาขาเดียวไม่สามารถสร้างการเปลี่ยนแปลงได้ ต้องประกอบกอบไปด้วยความร่วมมือจากหลายสาขา อีกทั้งภาครัฐ ภาคเอกชนร่วมมือกันเพื่อให้เกิดการผลักดันและการใช้ประโยชน์จากนวัตกรรม”

ศ.ดร.สมปอง คล้ายหนองสรวง ผู้อำนวยการ หน่วยบริหารและจัดการทุนด้านการพัฒนากำลังคน และทุนด้านการพัฒนาสถาบันอุดมศึกษา การวิจัยและการสร้างนวัตกรรม (บพค.) เสริมว่า การพัฒนากำลังคนต้องมองมิติของความต้องการของตลาดแรงงาน พร้อมเตรียมทักษะแห่งอนาคต ซึ่งปัจจุบันไทยเป็นประเทศที่ใช้แรงงานเข้มข้น จึงต้องเร่งพัฒนาทักษะให้แก่แรงงาน เพราะคนคือสมบัติที่มีค่ามหาศาลของประเทศที่เกิดจากการลงทุนด้านงบประมาณและทรัพยากรต่าง ๆ เพื่อรองรับการพัฒนาประเทศในปัจจุบัน และเตรียมความพร้อมสู่การเปลี่ยนแปลงในอนาคต

โดย บพค. ให้ความสำคัญกับการพัฒนากำลังคน 6 ด้าน ได้แก่ เทคโนโลยีที่จำเป็นต่อการพัฒนาประเทศ การปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ เทคโนโลยีที่เป็นจุดคานงัด เทคโนโลยีขั้นแนวหน้า และเศรษฐกิจสร้างสรรค์หรือซอฟต์พาวเวอร์ โดยเทคโนโลยีที่จำเป็นต่อการพัฒนาประเทศ ได้แก่ ปัญญาประดิษฐ์ ความปลอดภัยทางไซเบอร์ การแพทย์ทางเลือก และชีวสารสนเทศศาสตร์ ซึ่งล้วนมีมูลค่าตลาดสูงถึง 6 หมื่นล้านบาท

ดร.อัษฎางค์ ไตรตั้งวงศ์ วิศวกรเคมีอาวุโส บริษัท อาร์ วี คอนเน็กซ์ จำกัด ให้ความเห็นว่า ประเทศไทยมีผู้สำเร็จการศึกษาระดับปริญญาเอกด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีประมาณ 1,200 คนต่อปี แต่ไม่สามารถเข้าสู่ระบบอุตสาหกรรมที่ตรงกับความเชี่ยวชาญ ได้แต่ทำงานวิจัยพื้นฐานในหน่วยงานวิจัยภาครัฐที่ไม่ก่อให้เกิดนวัตกรรมที่ช่วยขับเคลื่อนทางเศรษฐกิจได้

ขณะที่คุณภทรกร นิจจรัลกุล ประธานกรรมการบริหาร บริษัท Deep Capital เชื่อมั่นว่า ประเทศไทยสามารถใช้ประโยชน์จากปัญญาประดิษฐ์ได้อย่างเต็มศักยภาพหากมีบุคลากรที่พร้อม เพราะปัญญาประดิษฐ์ไม่ใช่เครื่องมือเพื่อการวิเคราะห์ แต่ยังหาองค์ความรู้เชิงลึกที่นำมาประยุกต์ใช้ประโยชน์ได้

คุณธรรมภรณ์ ประภาสะวัต ผู้อำนวยการ กองบริหารทุนวิจัยและนวัตกรรม 3 สำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) ให้แนวคิดถึงการสร้างฐานกำลังคนที่แข็งแกร่ง ต่อเนื่อง และต่อยอดงานวิจัยว่า คนที่ผลิตและพัฒนามานั้นต้องเก่งและดี เก่งคือมีองค์ความรู้ เชี่ยวชาญ และมีทักษะด้านการวิจัยและนวัตกรรม ดีคืองานวิจัยต้องมีคุณภาพและมาตรฐาน ควบคู่กับการมีคุณธรรมและจริยธรรม โดย วช. มีกลไกสร้างแรงจูงใจให้กำลังคนผ่านการสนับสนุนทุนวิจัยอย่างต่อเนื่อง ให้รางวัลกับผลงานดีเด่น เน้นการสร้างนักวิจัยในลักษณะบันไดอาชีพตั้งแต่นักวิจัยรุ่นใหม่ต่อเนื่องจนถึงนักวิจัยอาวุโส ซึ่งต้องอาศัยการขับเคลื่อนจากภาครัฐ ภาคอุตสาหกรรม รวมถึงสถาบันวิจัยชั้นนำในต่างเทศ

รศ.ดร.ณัฐดนัย หาญการสุจริต คณะอุตสาหกรรมเกษตร มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ เผยว่า การลงทุนเพื่อพัฒนาบุคลากรไม่มีคำว่าสูญเปล่า เพราะบุคลากรที่มีคุณภาพจะสร้างประโยชน์ให้กับประเทศชาติได้ในระยะยาว จึงควรให้ความสำคัญทั้งในด้านการศึกษาและการฝึกอบรม เพื่อให้มีบุคลากรที่มีคุณภาพสูงเพียงพอต่อการพัฒนาประเทศชาติ

เช่นเดียวกับ ศ.ภก.ดร.ปิติ จันทร์วรโชติ คณะเภสัชศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ให้ความเห็นว่า การสร้างและพัฒนานักวิจัยไทยเป็นสิ่งสำคัญในการพัฒนาประเทศชาติ เนื่องจากนักวิจัยเป็นผู้สร้างสรรค์นวัตกรรมที่ช่วยแก้ไขปัญหาต่าง ๆ ของสังคมและนำพาประเทศชาติไปสู่ความเจริญก้าวหน้า

คุณพันธุ์เพิ่มศักดิ์ อารุณี หัวหน้ากลุ่มภารกิจบริหารยุทธศาสตร์ สำนักงานปลัดกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม ชี้ว่าการพัฒนากำลังคนด้านอุดมศึกษา และ ววน. ไม่สามารถแยกออกจากกัน จำเป็นต้องร่วมพัฒนาอย่างต่อเนื่องประสานควบคู่กัน จากข้อมูลอัตราการว่างงานของไทยอยู่ที่ประมาณร้อยละ 30 ซึ่งใกล้เคียงกับอัตราว่างงานของโลก แสดงว่าแรงงานที่ผลิตออกมามีความรู้และทักษะไม่ตรงกับความต้องการของนายจ้าง โดยสำนักงานสภานโยบายการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมแห่งชาติ (สอวช.) รายงานว่า ประเทศไทยมีคนว่างงานประมาณ 1.1 หมื่นคน ขณะที่มหาวิทยาลัยผลิตบัณฑิตได้ปีละ 2 แสนคน ทำให้เห็นว่าบัณฑิตที่ผลิตได้นั้นยังไม่ตรงตามความต้องการของตลาด โดยขาดแคลนแรงงานในกลุ่มของดิจิทัล โลจิสติกส์ และการแพทย์

 

Loading

Share this post


เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

ตั้งค่าความเป็นส่วนตัว

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
จัดการความเป็นส่วนตัว
  • เปิดใช้งานตลอด

บันทึกการตั้งค่า