ประกาศความสำเร็จ! บพข.–วีกรีน และ สมอ. ผลักดัน 26 บริษัทไทย ผ่านมาตรฐาน CEMS ครั้งแรกของประเทศ พร้อมก้าวสู่ตลาดโลก

ประกาศความสำเร็จ! บพข.–วีกรีน และ สมอ. ผลักดัน 26 บริษัทไทย ผ่านมาตรฐาน CEMS ครั้งแรกของประเทศ พร้อมก้าวสู่ตลาดโลก

ก้าวแรกความสำเร็จในการผลักดันนโยบาย CIRCULAR ECONOMY และ SDGs หลังจากวีกรีน และสมอ. กระทรวงอุตสาหกรรม ได้มี MOU ในการพัฒนามาตรฐานระบบการจัดการเศรษฐกิจหมุนเวียนองค์กร (Circular Economy Management System; CEMS) ครั้งแรกของประเทศไทย ร่วมกับ 30 บริษัทนำร่อง เมื่อปลายปี 2565 ภายใต้การสนับสนุนของ บพข.กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) ล่าสุด ได้มีการแถลงข่าว CIRCULAR ECONOMY : From Policy to Practice for Business Organizations” ประกาศความสำเร็จในการผลักดัน 26 บริษัทแรก ให้สามารถผ่านมาตรฐาน CEMS พร้อมทั้งการพัฒนาหน่วยตรวจรับรองและบุคลากรตรวจประเมินด้านการจัดการเศรษฐกิจหมุนเวียนสำหรับองค์กรกว่า 500 คน เพื่อเพิ่มขีดความสามารถการแข่งขันของภาคเอกชนไทยในการทำตลาดกับคู่ค้าธุรกิจทั้งในและต่างประเทศ

จากปัญหาสิ่งแวดล้อมและการขาดแคลนทรัพยากรที่เพิ่มความรุนแรงขึ้นอย่างต่อเนื่อง ทำให้หลายประเทศได้ออกข้อกำหนดและเกณฑ์มาตรฐานด้านสิ่งแวดล้อม โดยเฉพาะในสหภาพยุโรป และสหรัฐอเมริกา ซึ่งเป็นตลาดที่ใหญ่และมีศักยภาพสูง ได้มีการออกมาตรการเก็บภาษีเพิ่มสำหรับสินค้าที่มีผลต่อสิ่งแวดล้อม และมีการปล่อยคาร์บอนไดออกไซด์สูงในกระบวนการผลิต ซึ่งมาตรการดังกล่าวส่งผลกระทบต่อภาคธุรกิจทั่วโลก ดังนั้นภาครัฐและผู้ประกอบการไทยต้องเร่งปรับตัวใช้นวัตกรรมและเทคโนโลยีเพื่อให้กระบวนการผลิตปล่อยคาร์บอนได้ตามเกณฑ์ โดยอาวุธทางเศรษฐกิจที่รัฐบาลไทยนำมารับมือและต่อยอดในเรื่องนี้ คือการผลักดันเศรษฐกิจด้วยโมเดล ‘BCG’ มุ่งเน้นไปที่ 3 ด้านหลัก คือ เศรษฐกิจชีวภาพ Bio Economy เศรษฐกิจหมุนเวียน Circular Economy และเศรษฐกิจสีเขียว Green Economy เพื่อผลักดันภาคธุรกิจและอุตสาหกรรมมุ่งไปสู่ Net Zero Emissions

เพื่อสร้างความเชื่อมั่นจากลูกค้า/คู่ค้า สำนักงานมาตรฐานอุตสาหกรรม (สมอ.) กระทรวงอุตสาหกรรม ได้มีการกำหนดมาตรฐานการตรวจสอบและรับรองแห่งชาติ “ระบบการจัดการเศรษฐกิจหมุนเวียนสำหรับองค์กร (Circular Economy Management System; CEMS)” มตช. 2 เล่ม 2 เพื่อให้ภาคธุรกิจใช้เป็นแนวทางปฏิบัติสำหรับการจัดทำระบบเศรษฐกิจหมุนเวียนในองค์กร และได้ร่วมมือกับ ศูนย์เชี่ยวชาญเฉพาะทางด้านกลยุทธ์ธุรกิจที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม (วีกรีน) โดยมี รศ.ดร.รัตนาวรรณ มั่งคั่ง ผู้อำนวยการ วีกรีน เป็นหัวหน้าโครงการ ภายใต้การสนับสนุนทุนจากหน่วยบริหารและจัดการทุนด้านการเพิ่มความสามารถในการแข่งขันของประเทศ (บพข.) กระทรวง อว. ในการพัฒนาระบบดังกล่าวให้สอดคล้องกับความต้องการของภาคธุรกิจ สามารถผลักดันให้เกิดการดำเนินการอย่างเป็นรูปธรรม เกิดประสิทธิผลและสร้างความเชื่อมั่นให้กับผู้มีส่วนได้เสียที่เกี่ยวข้อง โดยได้มีการรับสมัคร ผู้ประกอบการ ที่ปรึกษา หน่วยรับรอง (Certification Body) และหน่วยรับรองระบบงาน (Accreditation Body) เข้าร่วมโครงการในครั้งนี้ด้วยเพื่อให้ครอบคลุมทั้งโครงสร้าง

รศ.ดร.ธงชัย สุวรรณสิชณน์ ผู้อำนวยการ บพข. กล่าวว่า “เป้าหมายของโครงการนี้ เป็นการยกระดับการดำเนินธุรกิจภายใต้แนวคิดเศรษฐกิจหมุนเวียนสู่การประยุกต์ใช้จริงตามข้อกำหนดของมาตรฐานการตรวจสอบและรับรองแห่งชาติ เป็นการพัฒนาระบบการตรวจสอบและรับรองสำหรับระบบการจัดการเศรษฐกิจหมุนเวียนองค์กรครั้งแรกของประเทศไทย ให้เป็นที่ยอมรับในระดับชาติและสากล และมีคู่มือแนวทางเชิงปฏิบัติที่ดีของระบบการจัดการเศรษฐกิจหมุนเวียนองค์กรสำหรับอุตสาหกรรมที่สนใจ โครงการนี้มีการสร้างองค์ความรู้และเข้าใจเกี่ยวกับแนวทางเชิงปฏิบัติและการแสดงความสอดคล้องตามข้อกำหนดของมาตรฐาน CEMS อีกทั้งยังเป็นการสร้างกำลังคนด้านระบบการจัดการเศรษฐกิจหมุนเวียนสำหรับองค์กรสู่การขยายผลให้มีการประยุกต์ใช้ในภาคอุตสาหกรรมในวงกว้าง เพื่อขับเคลื่อนนโยบายเศรษฐกิจหมุนเวียนอย่างเป็นรูปธรรม รวมทั้งตอบโจทย์ SDG 9, SDG 12 และ SDG 13 ของประเทศด้วย”

รศ.ดร.รัตนาวรรณ มั่งคั่ง ผู้อำนวยการ วีกรีน คณะสิ่งแวดล้อม มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ หัวหน้าโครงการฯ กล่าวเสริมว่า “โครงการนี้มีวัตถุประสงค์ในพัฒนาระบบการตรวจสอบและรับรองระบบการจัดการเศรษฐกิจหมุนเวียนสำหรับองค์กรของประเทศไทยให้เป็นที่ยอมรับในระดับชาติและสากล ตลอดจนจัดทำคู่มือแนวทางเชิงปฏิบัติที่ดีของระบบการจัดการเศรษฐกิจหมุนเวียนสำหรับองค์กรตามข้อกำหนดของมาตรฐานการตรวจสอบและรับรองแห่งชาติ โดยมีการรับสมัครบริษัทนำร่องเข้าร่วมโครงการฯ นำข้อกำหนดของมาตรฐานระบบการจัดการเศรษฐกิจหมุนเวียนสำหรับองค์กรไปปฏิบัติจริง ซึ่งช่วยเพิ่มศักยภาพให้มีการใช้ทรัพยากรอย่างมีประสิทธิภาพ นำไปสู่การลดปริมาณของเสีย และลดปริมาณก๊าซเรือนกระจก พร้อมรับการตรวจประเมินจากผู้ตรวจประเมินภายนอก ซึ่งเป็นบุคคลที่ 3 และผ่านการรับรองมาตรฐานระบบการจัดการเศรษฐกิจหมุนเวียนสำหรับองค์กรเป็นกลุ่มแรกของประเทศไทย จำนวน 26 บริษัท นอกจากนี้ยังได้พัฒนาผู้มีความสามารถในการเป็นที่ปรึกษา (Consultants) พัฒนาผู้ตรวจประเมิน (Auditors) จากหน่วยตรวจรับรอง (CB: Certification Body) ที่พร้อมดำเนินการขยายขอบเขตการให้บริการตรวจประเมินและให้การรับรอง CEMS สอดคล้องตามข้อกำหนดของมาตรฐาน เพื่อเป็นการยกระดับสถานประกอบการที่ดำเนินธุรกิจภายใต้แนวคิดเศรษฐกิจหมุนเวียน ให้มีการดำเนินการอย่างมีประสิทธิภาพ”

คุณวีระศักดิ์ เพ้งหล้ง ผู้อำนวยการ สำนักงานคณะกรรมการการมาตรฐานแห่งชาติ สมอ. ได้กล่าวเพิ่มเติมว่า “มาตรฐานระบบการจัดการเศรษฐกิจหมุนเวียนสำหรับองค์กรเป็นเรื่องใหม่ ดังนั้น การสร้างกำลังคน โดยเฉพาะที่ปรึกษา จะเป็นปัจจัยสำคัญในการนำไปสู่การขยายผลให้มีการประยุกต์ใช้มาตรฐานในภาคอุตสาหกรรมในวงกว้าง เพื่อร่วมขับเคลื่อนนโยบาย CE อย่างเป็นรูปธรรม ในโครงการนี้ ได้มีการจัดอบรมภาคทฤษฏีเกี่ยวกับที่มาของการพัฒนาข้อกำหนดและการตีความข้อกำหนดสู่แนวทางเชิงปฏิบัติ รวมทั้งภาคปฏิบัติ ผ่านการเป็นที่ปรึกษาของบริษัทนำร่อง เพื่อพัฒนาที่ปรึกษาให้มีองค์ความรู้และเข้าใจเกี่ยวกับแนวทางเชิงปฏิบัติและการแสดงความสอดคล้องตามข้อกำหนดของมาตรฐานระบบการจัดการเศรษฐกิจหมุนเวียนองค์กร จำนวน 34 คน แบ่งเป็น บริษัทที่ปรึกษา 6 บริษัท รวม 23 คน ที่ปรึกษาอิสระ 5 คน และอาจารย์จากมหาวิทยาลัย 6 คน โดยจะประกาศรายชื่อที่ปรึกษาบนเว็บไซด์ของ สมอ. เพื่อเป็นข้อมูลให้กับโรงงานอุตสาหกรรม”

รายชื่อหน่วยตรวจรับรอง (CB : Certification Body) ที่เข้าร่วมโครงการและพร้อมให้บริการตรวจประเมินและรับรองมาตรฐานระบบการจัดการเศรษฐกิจหมุนเวียนสำหรับองค์กร

1) สถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย หรือ วว. (TISTR)

2) สถาบันรับรองมาตรฐานไอเอสโอ (MASCI)

3) บริษัท เอสจีเอส (ประเทศไทย) จำกัด (SGS)

4) บริษัท บูโร เวอริทัส (ประเทศไทย) จำกัด (Bureau Veritas)

บพข. มีเป้าหมายที่จะปิดช่องว่างและเชื่อมโยงผู้เกี่ยวข้องหลักในห่วงโซ่คุณค่า ตั้งแต่เจ้าของแบรนด์ผลิตภัณฑ์ ผู้ผลิต ผู้บริโภค และผู้รีไซเคิล เพื่อให้เกิดเศรษฐกิจหมุนเวียนอย่างเป็นรูปธรรมในประเทศไทย จึงได้ให้ทุนสนับสนุนโครงการวิจัยดังกล่าว ภายใต้แผนงานกลุ่มเศรษฐกิจหมุนเวียน โดยมี วีกรีน เป็นผู้ดำเนินงาน ร่วมกับ สมอ. ที่สนับสนุนทุนวิจัยในรูปแบบ in-kind ซึ่ง บพข. คาดหวังว่าระบบ CEMS จะเป็นเครื่องมือและกลไกที่สำคัญในการขับเคลื่อนพัฒนาประเทศไทยด้วยโมเดลเศรษฐกิจหมุนเวียนได้ตามเป้าหมายอย่างเป็นรูปธรรม นำไปสู่การลดการใช้ทรัพยากร การลดปริมาณของเสีย ลดปริมาณการปล่อยก๊าซเรือนกระจก และการเพิ่มมูลค่าผลิตภัณฑ์หมุนเวียน ตลอดจนทำให้ประเทศไทยเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขัน ก้าวสู่ความเป็นผู้นำด้านเศรษฐกิจหมุนเวียนในระดับภูมิภาค

Loading

Share this post


เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

ตั้งค่าความเป็นส่วนตัว

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
จัดการความเป็นส่วนตัว
  • เปิดใช้งานตลอด

บันทึกการตั้งค่า