บพท. สานพลังภาคีพัฒนากลไก-ระบบนิเวศน์ข้อมูลเมือง กรุยทางปั้นเมืองน่าอยู่ เมืองอัจฉริยะ
ธนาคารโลก ชี้การพัฒนาเมืองน่าอยู่ประเทศไทย ต้องตอบโจทย์ 3 เรื่อง กระจายความเจริญ-ลดเหลื่อมล้ำ-เติมความสามารถการแข่งขัน ขณะที่สภาพัฒน์กำหนดคุณลักษณะเมืองน่าอยู่พึงประสงค์ 4 ประการ ชีวิตปลอดภัย-ปลอดมลภาวะ-มีภูมิคุ้มกันการเปลี่ยนแปลง-มีความยืดหยุ่น ส่วน บพท. เดินหน้าปิดทองหลังพระ สานต่อพลังความรู้ พลังภาคี สร้างเมืองน่าอยู่ยั่งยืน บนความทั่วถึง-เท่าเทียมในการเข้าถึงระบบข้อมูลเมือง
คุณขวัญพัฒน์ สุทธิธรรมกิจ เจ้าหน้าที่อาวุโสธนาคารโลกผู้รับผิดชอบประเทศไทย กล่าวถึงข้อค้นพบ ความท้าทายและโอกาสของเมือง ในการยกระดับเมืองน่าอยู่อย่างชาญฉลาดสำหรับประเทศไทย ในงานสัมมนา “การขับเคลื่อนยุทธศาสตร์เมืองศูนย์กลางที่น่าอยู่และชาญฉลาด บนฐานงานวิจัยและนวัตกรรมของประเทศไทย” ที่ศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ โดยระบุว่า ธนาคารโลก ทำงานกับหลายประเทศรวมทั้งรัฐบาลไทย และค้นพบว่า โจทย์หลักของการยกระดับเมืองน่าอยู่อย่างชาญฉลาด หรือ Livable & Smart City มีอยู่ด้วยกัน 3 ประการคือ ความเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจ ความเหลื่อมล่ำ และความสามารถในการแข่งขัน
ซึ่งพบว่าโจทย์ทั้ง 3 ประการดังกล่าวยังแก้ไม่ตก เนื่องจากความเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจ ยังคงกระจุกตัวอยู่ที่กรุงเทพฯ ไม่ถูกกระจายออกไปยังเมืองใหญ่อีกหลายเมืองที่มีความพร้อม ขณะที่เรื่องของความเหลื่อมล้ำ มีข้อมูลหนึ่งที่เห็นแล้วก็ตกใจเหมือนกัน หมายถึงว่า ปัจจุบันเรามีมหาวิทยาลัยทั่วประเทศ ทุกจังหวัดผลิตนักศึกษาออกมา แต่ปรากฏว่าไม่มีงานจริงให้ทำ ทั้งที่มีการลงทุนกับเรื่องทุนมนุษย์แต่ไม่สามารถใช้ทุนมนุษย์ให้เต็มที่ เพราะความกระจุกตัวของงานที่ดีอยู่ในกรุงเทพฯ ส่วนเรื่องขีดความสามารถของการแข่งขัน ในการพัฒนาเศรษฐกิจที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม หรือ Go Green สำหรับประเทศไทยก็ยังคงมีขีดจำกัดอยู่มาก
คุณชณกช ชสิธภนญ์ ผู้อำนวยการกองยุทธศาสตร์การพัฒนาเมือง สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) กล่าวว่า ประเด็นเกี่ยวกับเมืองในแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติฉบับที่ 13 ซึ่งใช้อยู่ตอนนี้ กำหนดเป้าหมายหลักไว้ 3 เรื่องคือ เรื่องการเติบโตในภูมิภาค โดยส่งเสริมสนับสนุนให้มีการลงทุนในเขตเศรษฐกิจพิเศษต่าง ๆ เพิ่มมากขึ้น เรื่องลดความเหลื่อมล้ำ มุ่งเน้นให้เกิดการกระจายความเจริญ กระจายการจ้างงานไปสู่ภูมิภาค และเรื่องการพัฒนาเมือง ที่มุ่งให้มีการพัฒนาเมืองน่าอยู่ที่ยั่งยืน มีการเตรียมพร้อมต่อการเปลี่ยนแปลงทุกรูปแบบ และยกระดับคุณภาพชีวิตผู้อยู่อาศัย
“คุณลักษณะเมืองน่าอยู่ที่ยั่งยืนที่เราต้องการให้เกิดขึ้น มีอยู่ 4 ประการคือ 1) ความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สิน 2) สิ่งแวดล้อมสะอาดไม่มีมลพิษ ทรัพยากรธรรมที่สมบูรณ์ 3) ความพร้อมในการรับมือการเปลี่ยนแปลง เมืองที่ล้มแล้วสามารถลุกขึ้นได้ไว และ 4) ความยืดหยุ่น”
คุณเจริญชัย เฉลียวเกรียงไกร ประธานสภาอุตสาหกรรมจังหวัดสระบุรี และผู้อำนวยการศูนย์พลังงานยั่งยืน บริษัท ปูนซิเมนต์ไทย จำกัด (มหาชน) กล่าววว่า ปัจจุบันนี้ภาคราชการ ภาคเอกชน ภาคประชาสังคม และภาคประชาชนในจังหวัดสระบุรี มีความตื่นรู้และตื่นตัวในการทำให้จังหวัดสระบุรี เป็นเมืองอัจฉริยะที่น่าอยู่ สอดคล้องกับคุณลักษณะพึงประสงค์ของ สศช. ด้วยการร่วมมือกับภาควิชาการ โดยมีหน่วยบริหารและจัดการทุนด้านการพัฒนาระดับพื้นที่ (บพท.) กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) เข้ามามีบทบาทหลักในการเชื่อมโยงพลังความรู้จากงานวิจัยและนวัตกรรม ของสถาบันอุดมศึกษา เข้ากับพลังภาคีในพื้นที่
“กลไกการขับเคลื่อนจังหวัดสระบุรี สู่ความเป็นเมืองอัจฉริยะที่น่าอยู่อย่างยั่งยืนบนฐานงานวิจัยและนวัตกรรม โดยความร่วมมือกันของทุกภาคส่วน เราจะเริ่มจากกลุ่มธุรกิจซีเมนต์ ซึ่งเป็นธุรกิจที่กระจุกตัวอยู่ในจังหวัดสระบุรีมากที่สุด โดยรีไซเคิลพลังงานจากกระบวนการผลิตซีเมนต์ให้เป็นพลังงานสะอาด พัฒนาอุตสาหกรรมสีเขียว นำเอาวัสดุเหลือใช้กลับมาหมุนเวียน รณรงค์ให้มีการทำเกษตรกรรมคาร์บอนต่ำ และเพิ่มพื้นที่สีเขียว”
รศ.ดร.ปุ่น เที่ยงบูรณธรรม รองผู้อำนวยการหน่วยบริหารและจัดการทุนด้านการพัฒนาระดับพื้นที่ (บพท.) กล่าวว่า เป็นที่น่ายินดีที่งานพัฒนาความยั่งยืนของเมืองน่าอยู่ เมืองอัจฉริยะในประเทศไทย ซึ่ง บพท. มีบทบาทในการรณรงค์อย่างต่อเนื่อง ได้รับการตอบสนอง และถูกต่อยอดขยายผลในวงกว้างมากขึ้น โดยทุกวันนี้สำนักงานพัฒนาธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ (ETDA) กับสำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัล (Depa) ซึ่งเป็นกลไกกำหนดนโยบายและกำกับการทำธุรกรรมดิจิทัล ได้เข้ามาร่วมใช้งานวิจัยของเรา แล้วก็เรียนรู้ไปด้วยกัน
“เราได้มีโอกาสทำงานร่วมกับหลายภาคส่วน ทั้งฝ่ายกำหนดนโยบาย และฝ่ายปฏิบัติงาน ในการที่จะผลักดันเมืองเข้าไปสู่เมืองน่าอยู่ได้อย่างชาญฉลาด โดยเรามีโอกาสนำเอาชุดข้อมูลพร้อมใช้ที่ประมวลมาจากนักวิจัยในสถาบันอุดมศึกษา เข้าไปผลักดันให้เกิดการพัฒนาเมืองบนความสอดคล้องกับบริบท และวิถีชีวิตของแต่ละพื้นที่”
บพท. ในฐานะองค์กรบริหารจัดการความรู้เพื่อการพัฒนาคน พัฒนาพื้นที่ ที่มุ่งตอบโจทย์แก้ปัญหาความยากจน ลดความเหลื่อมล้ำ ตลอดจนพัฒนากลไกกระบวนการพัฒนาเมือง พยายามทำให้เกิดความทั่วถึง เท่าเทียมกันของโอกาสในการเข้าถึงข้อมูลความรู้ และนวัตกรรม “เราพยายามสร้างระบบนิเวศน์ของกลไกกระบวนการพัฒนาเมือง ด้วยฐานข้อมูลการวิจัยและนวัตกรรม โดยทำให้ระบบข้อมูลของเมือง เป็นระบบข้อมูลแบบเปิด หรือ Open City Data Platform ซึ่งมีหน่วยงานองค์กรปกครองท้องถิ่นเป็นผู้ดูแล และคนในพื้นที่สามารถเข้าถึงได้อย่างเท่าเทียมกัน ซึ่งเป็นเหมือนงานปิดทองหลังพระ เป็นงานที่ยากแต่สามารถทำให้สำเร็จได้ ถ้าทุกฝ่ายร่วมแรงร่วมใจกัน”