บพข. ไปรษณีย์ไทย และ ม.อ. พัฒนา Net Zero Emissions Execution Roadmap and Tools เพื่อขับเคลื่อนการเป็นผู้ให้บริการไปรษณีย์และโลจิสติกส์อย่างยั่งยืน
หน่วยบริหารและจัดการทุนด้านการเพิ่มความสามารถในการแข่งขันของประเทศ (บพข.) ร่วมกับ บริษัท ไปรษณีย์ไทย (ปณท) จำกัด และ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ (ม.อ.) จัดทำสัญญาโครงการพัฒนา Net Zero Emissions Execution Roadmap and Tools เพื่อขับเคลื่อนการเป็นผู้ให้บริการไปรษณีย์และโลจิสติกส์อย่างยั่งยืน พร้อมทั้งลงนามบันทึกความเข้าใจความร่วมมือทางวิชาการระหว่าง มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ และ บริษัท ไปรษณีย์ไทย จำกัด และเปิดตัวโครงการ Green Parcel: University Action Towards Net Zero Emissions โดยได้มีงานแถลงข่าว เมื่อวันศุกร์ที่ 19 พฤษภาคม พ.ศ. 2566 ณ บริษัท ไปรษณีย์ไทย จำกัด (ปณท) สำนักงานใหญ่
ความรับผิดชอบต่อสิ่งแวดล้อมเป็นประเด็นที่ทุกประเทศทั่วโลกให้ความสำคัญ โดยเฉพาะแนวทางการดำเนินธุรกิจเพื่อลดการปล่อย CO2 (Decarbonization) เพื่อขับเคลื่อนเป้าหมายการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ (Net Zero GHG Emissions) ซึ่งประเด็นนี้ได้รับการยอมรับจากทุกภาคส่วนทั่วโลกให้เป็น “วาระระดับโลก หรือ Global Agenda” ซึ่งเป้าหมายนี้ส่งผลให้บริษัทขนส่งและโลจิสติกส์ของไทย ซึ่งเป็นอุตสาหกรรมที่มีการปล่อยมลพิษต่อสิ่งแวดล้อมเป็นอันดับ 2 ของประเทศ ต้องมีการปรับตัวในการดำเนินธุรกิจที่มีการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกและมีการประเมินผลลัพธ์ที่ได้อย่างชัดเจน (GHG Emissions Report)
สำหรับประเทศไทยธุรกิจขนส่งและโลจิสติกส์เป็นอุตสาหกรรมที่ใหญ่และมีการเติบโตสูงมากจากการขยายตัวของธุรกิจ E-Commerce ประกอบกับธุรกิจนี้ได้ถูกจัดให้อยู่ในกลุ่มธุรกิจ The New S-Curve (Activation and Logistics) ของประเทศในการวางแผนให้ประเทศไทยเป็น Logistics Hub ของภูมิภาคเพื่อเป็นกลไกขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศ ดังนั้นธุรกิจขนส่งและโลจิสติกส์ของประเทศไทยจึงเป็นธุรกิจที่มีศักยภาพในการเป็นเป้าหมายการขยายผลลัพธ์ของโครงการวิจัย ทั้งการสร้างความร่วมมือทางวิชาการและการขยายผลในเชิงพาณิชย์ โดยเพาะด้านความรับผิดชอบต่อสิ่งแวดล้อมที่ทุกประเทศทั่วโลกรวมทั้งไทยให้ความสำคัญ
อย่างไรก็ตามปัจจุบันบริษัทขนส่งและโลจิสติกส์ยังขาดแนวทางและเครื่องมือในการดำเนินการดังกล่าว จากปัญหาความท้าทายนี้จึงเป็นที่มาของโจทย์วิจัยในโครงการ“พัฒนา Net Zero Emissions Execution Roadmap and Tools เพื่อขับเคลื่อนการเป็นผู้ให้บริการไปรษณีย์และโลจิสติกส์อย่างยั่งยืน บริษัท ไปรษณีย์ไทย จำกัด” โดยมี รศ.ดร.จรรยา ชาญชัยชูจิต ผู้อำนวยการศูนย์การจัดการโลจิสติกส์และซัพพลายเชนอย่างยั่งยืน มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ เป็นหัวหน้าโครงการ ภายใต้การสนับสนุนทุนจาก บพข. เพื่อพัฒนา Roadmap Net Zero Emissions รวมทั้งกลยุทธ์การดำเนินงานในการบริหารจัดการเพื่อลด GHG Emissions และเตรียมความพร้อมในการจัดทำข้อมูลการปล่อยก๊าซเรือนกระจกของ ปณท. เพื่อเพิ่มความสามารถทางการแข่งขันให้แก่องค์กร และร่วมเป็นส่วนหนึ่งของทุกภาคส่วนในการขับเคลื่อนเป้าหมายการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ของประเทศไทย
รศ.ดร.สิรี ชัยเสรี ผู้อำนวยการ บพข. ได้เผยถึงบทบาทของ บพข. และแนวทางในการสนับสนุนทุนวิจัยว่า “บพข. มีพันธกิจในการสนับสนุนทุนวิจัยเพื่อเพิ่มความสามารถในการแข่งขันของประเทศ โดยเรามีวัตถุประสงค์คือ นำเอาความรู้ทั้งหลายที่มหาวิทยาลัย หรือหน่วยงานวิจัย มีอยู่แล้วมาพัฒนาต่อยอดเพื่อไปสู่การใช้งานอย่างจริงจัง ซึ่งการที่จะทำอย่างนั้นได้จำเป็นต้องมีความร่วมมือทั้งจากภาครัฐ เอกชน และนักวิจัย/มหาวิทยาลัย ในการทำงานร่วมกัน จึงจะเกิดประโยชน์ในเชิงพาณิชย์ได้จริง ซึ่ง บพข. เป็นหน่วยงานให้ทุนใหม่ที่เรามุ่งเน้นส่วนนี้โดยเฉพาะ
เรานำเอางานที่สำเร็จแล้วในระดับห้องปฏิบัติการมาขยายผล เพื่อใช้ประโยชน์ในเชิงพาณิชย์ และในปีงบประมาณ 2566 บพข. ได้อนุมัติเงินทุนสนับสนุนการวิจัยในการดำเนินงานแก่มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ ภายใต้ชื่อโครงการ “การพัฒนา Net Zero Emissions Execution Roadmap and Tools เพื่อขับเคลื่อนการเป็นผู้ให้บริการไปรษณีย์และโลจิสติกส์อย่างยั่งยืน บริษัท ไปรษณีย์ไทย จำกัด” เรารู้สึกดีใจที่ได้เห็นความร่วมมือของ ม.อ. และ ปณท. ที่ได้ลงนามความร่วมมือกันในวันนี้ เราหวังเป็นอย่างยิ่งว่า โครงการวิจัยที่จะทำร่วมกันในครั้งนี้จะประสบผลสำเร็จได้เป็นอย่างดี และเป็นแม่แบบในการขยายผลไปสู่ผู้ให้บริการขนส่งและโลจิสติกส์อื่น ๆ”
ดร.ดนันท์ สุภัทรพันธุ์ กรรมการผู้จัดการใหญ่ ปณท. กล่าวถึงโครงการวิจัยและความร่วมมือในครั้งนี้ว่า “ปณท. มีความยินดีเป็นอย่างยิ่งที่วันนี้ได้เกิดความร่วมมือระหว่าง 3 หน่วยงานขึ้น ซึ่งถือว่าเป็นจุดเริ่มต้นที่สำคัญในการที่จะขับเคลื่อนธุรกิจโลจิสติกส์ของประเทศ ที่จะคำนึงถึงผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม เพื่อขับเคลื่อนเป้าหมายการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิให้เป็นศูนย์ ด้วยการกำหนดกลยุทธ์ในการดำเนินงานพร้อมกับการจัดทำแผนการปฏิบัติการระยะสั้น-ระยะกลาง-และระยะยาว เพื่อลดละเลิกการปล่อยก๊าซเรือนกระจกจากกิจกรรมต่าง ๆ ใน value chain ของ ปณท. และการพัฒนาแพลตฟอร์มในการเก็บข้อมูลอย่างเป็นระบบ ให้เป็นไปตามมาตรฐานสากล สอดรับกับการพัฒนาอย่างยั่งยืนตามแนวทาง ESG (Environmental, Social, and Governance) ของ ปณท. โดยเฉพาะในมิติสิ่งแวดล้อมที่มีการมุ่งพัฒนาระบบงานต่าง ๆ ให้เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม เพื่อเป้าหมายในการที่เป็นผู้ให้บริการไปรษณีย์และขนส่งโลจิสติกส์ รายแรกของประเทศที่เดินหน้าตามเป้าหมาย Net Zero อย่างเต็มรูปแบบ ผ่านการดำเนินงานต่าง ๆ ที่จะเกิดขึ้นภายใต้โครงการที่เราได้ร่วมมือกันนี้
ต้องขอขอบคุณ บพข. ที่ให้ทุนสนับสนุนโครงการและเปิดโอกาสให้ ปณท. ได้เป็นส่วนหนึ่งของโครงการนี้ ผลจากการร่วมมือที่เกิดขึ้นจะไม่ได้เป็นแค่เพียงผลทางการศึกษา แต่เราจะเริ่มดำเนินการทันทีผ่านการร่วมมือกับ ม.อ. ซึ่งได้ผนึกกำลังสนับสนุนโครงการสำคัญต่าง ๆ เช่น แคมเปญ ReBox ที่ให้เกิดการลงมือปฏิบัติจริงควบคู่ไปกับการศึกษาวิจัยเพื่อมุ่งไปสู่เป้าหมายสำคัญของ ปณท. ที่จะได้รับจากโครงการ คือการเป็นผู้ให้บริการไปรษณีย์และการขนส่งโลจิสติกส์ของประเทศอย่างยั่งยืน”
ผศ.ดร.นิวัติ แก้วประดับ อธิการบดีมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ กล่าวว่า “ม.อ. ที่ให้ความสำคัญในการทำงานเชิงวิชาการในส่วนของการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกเพื่อที่จะให้เกิดความสมดุลในการทำงาน ในการประกอบธุรกิจ และการใช้ชีวิตของสังคม โดย ม.อ. ได้กำหนดเรื่องนี้ให้เป็นยุทธศาสตร์ที่สำคัญของมหาวิทยาลัย ในการทำวิจัยและการบริการทางวิชาการ โดยมีคณะที่สำคัญก็คือ คณะการจัดการสิ่งแวดล้อม ซึ่งโครงการนี้ รศ.ดร.จรรยา ชาญชัยชูจิต ผู้อำนวยการ ศูนย์การจัดการโลจิสติกส์และซัพพลายเชนอย่างยั่งยืน ของ ม.อ. ได้มีโอกาสนำเสนอต่อ บพข. และได้รับการสนับสนุนทุนวิจัยจาก บพข. และจาก ปณท. ทำให้เรามีความมั่นในว่าสิ่ งที่ทำอยู่นี้เป็นความต้องการจากภาคเอกชน และตรงกับวัตถุประสงค์ของการให้ทุนของ บพข. เรามั่นใจว่า ม.อ. มีความพร้อมทั้งทางด้านนโยบาย ยุทธศาสตร์ และบุคลากร ที่จะทำงานขับเคลื่อนโครงการนี้อย่างเต็มที่”
รศ.ดร.จรรยา ชาญชัยชูจิต หัวหน้าโครงการ เล่าถึงความเป็นมาของโครงการว่า “โครงการวิจัยนี้เกิดขึ้นจากเป้าหมายที่สอดคล้องกันระหว่างคณะนักวิจัยและ ปณท. ที่มีความตั้งใจที่จะเป็นส่วนหนึ่งในการขับเคลื่อนและสนับสนุนนโยบายเพื่อให้ประเทศไทยบรรลุเป้าหมายการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ หรือ Net Zero Emissions ภายในปี 2065 โดยเฉพาะจากอุตสาหกรรมขนส่งและโลจิสติกส์ ที่เป็นอุตสาหกรรมที่มีการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสูงเป็นอันดับ 2 ของประเทศไทย และได้ถูกระบุให้เป็นอุตสาหกรรมหลักของประเทศ ในการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกลง 40% ภายในปี 2030 หรืออีก 7 ปีข้างหน้า จากความท้าทายดังกล่าวและความมุ่งมั่นในการดำเนินธุรกิจตามแนวทาง ESG ของ ปณท. โดยเฉพาะในประเด็นความรับผิดชอบต่อสิ่งแวดล้อม และเป้าหมายของแผนงานพัฒนาโลจิสติกส์และระบบรางของประเทศไทยจึงเป็นที่มาของโครงการวิจัยนี้”
โครงการนี้มีเป้าหมายในการพัฒนาแผนการดำเนินงาน (Execution Roadmap) เครื่องมือ (Tools) รวมทั้งกลยุทธ์ดำเนินงาน ในการบริหารจัดการเพื่อลด GHG Emissions จากการดำเนินงาน และจัดทำข้อมูลการปลดปล่อยก๊าซเรือนกระจก (GHG Emissions Disclosure and Report) ขององค์กร เพื่อเพิ่มความสามารถในการแข่งขันให้แก่องค์กรเนื่องจากข้อกำหนดทางด้านกฎหมายและความต้องการของลูกค้าที่เปลี่ยนไปให้ความสำคัญกับประเด็นด้านสิ่งแวดล้อมและความยั่งยืน และเพื่อร่วมเป็นส่วนหนึ่งของทุกภาคส่วนในการขับเคลื่อนเป้าหมายการปลดปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ (Net Zero Emissions) ของประเทศไทย คาดว่า output ที่ได้ออกมานอกจาก roadmap ระยะสั้น กลาง ยาว ที่คาดหวังให้การปล่อยก๊าซเรือนกระจกเป็นศูนย์ ใน ค.ศ. 2065 และฐานข้อมูลแล้ว ยังได้เป็น Net Zero Emissions Digital Platform ที่ไว้ใช้คำนวณ ติดตามและรายงาน GHG Emissions โดยเมื่อเสร็จสิ้นโครงการแล้วยังคาดหวังให้ผู้ให้บริการขนส่งและโลจิสติกส์ต่าง ๆ นำไปใช้งานเพื่อเพิ่มความสามารถในการแข่งขันและเพิ่มประสิทธิภาพได้มาตราฐานสากล