บพข. – บพค. ร่วมมือเกาหลี พัฒนาเทคโนโลยี CCUS และไฮโดรเจน ผลักดันประเทศไทยมุ่งสู่เป้าหมาย Net Zero Emission

บพข. – บพค. ร่วมมือเกาหลี พัฒนาเทคโนโลยี CCUS และไฮโดรเจน ผลักดันประเทศไทยมุ่งสู่เป้าหมาย Net Zero Emission

กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) โดยหน่วยบริหารและจัดการทุนด้านการเพิ่มความสามารถในการแข่งขันของประเทศ (บพข.) ร่วมกับหน่วยบริหารและจัดการทุนด้านการพัฒนากำลังคนและทุนด้านการพัฒนาสถาบันอุดมศึกษา การวิจัยและการสร้างนวัตกรรม (บพค.) จัดงานสัมมนา “Thailand and Korea Seminar: To Net Zero with Carbon Capture, Utilization and Storage (CCUS) and Hydrogen Technologies” ในระหว่างวันที่ 6-7 ธันวาคม 2566 ณ ห้องประชุมกมลทิพย์ 3 โรงแรม เดอะ สุโกศล กรุงเทพฯ เพื่อพัฒนาและแลกเปลี่ยนเทคโนโลยี CCUS และเทคโนโลยีไฮโดรเจน ระหว่างภาครัฐกับภาคเอกชนของประเทศไทย และสาธารณรัฐเกาหลี โดยมีจุดมุ่งหมายเพื่อผลักดันประเทศไทยมุ่งสู่เป้าหมาย Carbon Neutrality และ Net Zero Emission ต่อไปในอนาคต

จากการประกาศความมุ่งมั่นของประเทศไทย ในการบรรลุความเป็นกลางทางคาร์บอน (Carbon Neutrality) ภายในปี 2050 และการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ภายในปี 2065 (Net Zero Emission GHG) ดังนั้นเทคโนโลยี CCUS จึงเข้ามามีบทบาทสำคัญในช่วยลดการปลดปล่อยคาร์บอนไดออกไซด์ของประเทศไทยลง ให้ได้ไม่น้อยกว่า 14 ล้านตันต่อปี ภายในปี 2050 และ 60 ล้านตันต่อปี 2065 อย่างไรก็ตาม การที่จะไปสู่เป้าหมายที่ท้าทายนี้ได้ จำเป็นต้องใช้การบูรณาการเชิงกลยุทธ์ของเทคโนโลยีและนโยบายเป็นสำคัญ บพข. และ บพค. ในฐานะหน่วยงานให้ทุนวิจัยด้าน R&D ของไทย ภายใต้สังกัดกระทรวง อว. ได้จัดงานสัมมนา “Thailand and Korea Seminar: To Net Zero with Carbon Capture, Utilization and Storage (CCUS) and Hydrogen Technologies” เมื่อวันที่ 6-7 ธันวาคม 2566

เพื่อให้เกิดเครือข่ายความร่วมมือด้านการวิจัยเพื่อพัฒนาเทคโนโลยี CCUS และเทคโนโลยีไฮโดรเจน ระหว่างภาครัฐกับภาคเอกชนของประเทศไทยและสาธารณรัฐเกาหลี รวมทั้งหาแนวทางการพัฒนาธุรกิจ การลงทุนร่วมกันในเทคโนโลยี CCUS และเทคโนโลยีไฮโดรเจน เพื่อพัฒนาเทคโนโลยีดังกล่าวในประเทศไทยให้เข้มแข็งและยั่งยืน พร้อมผลักดันประเทศไทยมุ่งสู่เป้าหมาย Carbon Neutrality และ Net Zero Emission นอกจากนี้ยังใช้เวทีดังกล่าวในการแลกเปลี่ยนองค์ความรู้ แนวปฏิบัติที่ดีของการส่งเสริมและขับเคลื่อนงานวิจัยและนโยบายด้าน CCUS และไฮโดรเจน ร่วมกับหน่วยงานวิจัยจากทางสาธารณรัฐเกาหลี เนื่องจากสาธารณรัฐเกาหลี มีหน่วยงานวิจัยและเครือข่ายภาคเอกชน ที่มีความเข้มแข็งด้านการพัฒนาเทคโนโลยี CCUS และไฮโดรเจนเพื่อการใช้ประโยชน์เชิงพาณิชย์ซึ่งอยู่ในขั้นชั้นนำของเอเชีย

รศ.ดร.ธงชัย สุวรรณสิชณน์ ผู้อำนวยการ บพข. กล่าวว่า “เป้าหมายการสัมมนาของเราในวันนี้คือ การสร้างเวทีสำหรับการอภิปราย การแลกเปลี่ยนความรู้ และการพัฒนากลยุทธ์การทำงานร่วมกันอย่างมีประสิทธิผล ซึ่งสอดคล้องกับวิสัยทัศน์ที่มีร่วมกันของทั้งประเทศไทยและสาธารณรัฐเกาหลี เราเน้นย้ำถึงความสำคัญของเทคโนโลยี CCUS และไฮโดรเจน ในการบรรลุเป้าหมายความเป็นกลางของคาร์บอน และการปลดปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ร่วมกัน ด้วยการสร้างเครือข่ายการวิจัยร่วมกันระหว่างทั้งสองประเทศ การสร้างแนวทางสำหรับการพัฒนาธุรกิจร่วมกัน การลงทุนใน CCUS และเทคโนโลยีไฮโดรเจน และอำนวยความสะดวกในการแลกเปลี่ยนแนวทางปฏิบัติที่ดีที่สุดในการส่งเสริมและขับเคลื่อนการวิจัยและนโยบายในด้านเหล่านี้

ซึ่งแนวทางดังกล่าวเหล่านี้ได้เริ่มเกิดขึ้นเมื่อเดือนมิถุนายน พ.ศ. 2566 ถือเป็นเครื่องพิสูจน์ถึงแนวทางที่มีวิสัยทัศน์ของประเทศไทยและหน่วยงานในสาธารณรัฐเกาหลี ในการพัฒนาการวิจัยและนวัตกรรมที่เกี่ยวข้องกับ CCUS และเทคโนโลยีไฮโดรเจน ซึ่งผู้ที่มาร่วมงานในวันนี้ประกอบด้วย สถาบันไทยและเกาหลีที่เกี่ยวข้องกับการกำหนดนโยบายด้าน CCUS ภาคเอกชนไทย รวมทั้งผู้มีส่วนได้ส่วนเสียหลักของทั้งสองประเทศ ซึ่งความเชี่ยวชาญเชิงลึกเกี่ยวกับเทคโนโลยีดังกล่าว ดังนั้นการสัมมนาครั้งนี้จะเป็นสื่อกลางให้เกิดความร่วมมือระหว่างประเทศ การแบ่งปันความรู้ และการพัฒนาการวิจัยและนวัตกรรมใน CCUS และเทคโนโลยีไฮโดรเจน ด้วยความพยายามในการทำงานร่วมกันเหล่านี้ เรามุ่งมั่นที่จะมีส่วนสำคัญต่อการนำประเทศไทยไปสู่การบรรลุความเป็นกลางทางคาร์บอนและการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ภายในปี 2065”

ผศ.ดร.ศิรินันท์ กุลชาติ รองผู้อำนวยการ บพค. กล่าวเสริมว่า “บพค. มีโครงการด้าน Net Zero Emission Flagship ที่มุ่งเน้นการทำงานร่วมกันทั้งในประเทศและต่างประเทศ ซึ่ง CCUS และไฮโดรเจน นั้นเป็นหมุดหลักสำคัญในการขับเคลื่อนโครงการด้าน Net Zero และความพยายามร่วมกันต่อสู้กับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ โดยเทคโนโลยี CCUS และไฮโดรเจนจะเป็นเทคโนโลยีแห่งอนาคตที่จะช่วยลดการปล่อยคาร์บอนในอุตสาหกรรมต่าง ๆ ซึ่งข้อมูลเชิงลึกและแนวทางจากที่ได้จากผู้เชี่ยวชาญที่มารวมตัวกันวันนี้ จะสามารถช่วยกำหนดนโยบายด้าน CCUS และไฮโดรเจน ก่อให้เกิดความร่วมมือระหว่างประเทศ และการระดมทรัพยากรที่จำเป็นสำหรับการดำเนินการตามความคิดริเริ่มของ CCUS ให้ประสบความสำเร็จ เชื่อว่าเทคโนโลยีและองค์ความรู้จากงานสัมมนาครั้งนี้ จะช่วยให้ประเทศไทยได้แนวคิดและแนวทางปฏิบัติที่ดีที่สุดจากสาธารณรัฐเกาหลีมาปรับใช้กับประเทศไทย และนำไปสู่ความร่วมมือระหว่างประเทศไทยและเกาหลีเพื่อสนับสนุนเทคโนโลยี CCUS และไฮโดรเจนต่อไปในอนาคต”

Dr. Inhwan Lee, Director General, National Research Council of Science and Technology (NST) สาธารณรัฐเกาหลี กล่าวว่า “ทั่วโลกในปัจจุบันมีการพัฒนาเทคโนโลยี CCUS เพิ่มขึ้นเป็นอย่างมาก ซึ่งเป็นที่ประจักษ์ได้ว่าหากไม่มี เทคโนโลยี CCUS ก็เป็นไปไม่ได้ที่จะปรับตัวต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ขณะนี้สหรัฐอเมริกาและยุโรป กำลังเป็นผู้นำในเรื่องเหล่านี้ ทางเกาหลีเองก็กำลังเร่งดำเนินการด้านเทคโนโลยี CCUS ของภูมิภาคเอเชียเช่นกัน เป็นที่ทราบดีว่าเทคโนโลยี CCUS และเทคโนโลยีไฮโดรเจนนั้นมีความสำคัญต่อการลดการปล่อยคาร์บอน รัฐบาลเกาหลีได้เริ่มดำเนินการพูดคุยกับทาง Non–Governmental Organization (NGO) ในประเด็นนี้แล้ว และนอกเหนือจากนั้นยังร่วมส่งเสริมนโยบายเพื่อเสริมสร้างความเข้มแข็งให้กับเทคโนโลยี CCUS ด้วยเช่นกัน และจากการไปเยือน NST ที่สาธารณรัฐเกาหลีโดยผู้บริหาร บพข. และ บพค. เมื่อเดือนมิถุนายนและสิงหาคมที่ผ่านมา เราได้มีการนำเสนอเทคโนโลยี CCUS และไฮโดรเจนซึ่งกันและกัน ทางเกาหลีมีความประทับใจอย่างมากในความพยายามของรัฐบาลไทยและภาคธุรกิจที่ทำให้กำลังช่วยผลักดันเทคโนโลยี CCUS และไฮโดรเจนให้เกิดการขับเคลื่อนอย่างมีประสิทธิภาพ  เพื่อให้เกิดเครือข่ายความร่วมมือมากขึ้น จึงเป็นที่มาของงานสัมมนาในวันนี้ที่รวบรวมผู้เชี่ยวชาญจากหน่วยงานต่าง ๆ เพื่อแลกเปลี่ยนองค์ความรู้และเทคโนโลยีตลอดระยะเวลา 2 วัน การสัมมนาในครั้งนี้จะนำไปสู่การหาแนวทางความร่วมมือเพื่อนำไปสู่การปฏิบัติที่เกิดขึ้นจริง และหวังว่างานสัมมนาครั้งนี้จะเป็นจุดเริ่มต้นที่ดีในการส่งเสริมมิตรภาพและความร่วมมือกันระหว่างสาธารณรัฐเกาหลีและประเทศไทย”

ในงานสัมมนามีหน่วยงานภาครัฐ ภาคเอกชน และผู้มีส่วนได้ส่วนเสียหลักของทั้งประเทศไทยและสาธารณรัฐเกาหลีเข้าร่วมกว่า 150 คน และได้มีการนำเสนอแนวทางและการแลกเปลี่ยนความรู้ในประเด็นต่าง ๆ ดังนี้

  • นโยบาย CCUS ในประเทศไทย
  • นโยบาย CCUS ในสาธารณรัฐเกาหลี
  • งานวิจัยและเทคโนโลยีด้านการดักจับ การใช้ประโยชน์ และการจัดเก็บคาร์บอน (Carbon Capture, Utilization, and Storage)
  • งานวิจัยและเทคโนโลยีสำหรับการผลิตและการใช้ประโยชน์จากไฮโดรเจน
  • งานวิจัยและเทคโนโลยีด้านการผลิตไฮโดรเจนจากชีวมวล
  • Business Matching และการร่วมทุนวิจัย

ซึ่งข้อมูลที่ได้จากการแลกเปลี่ยนความรู้ในงานสัมมนาครั้งนี้จะถูกนำไปสู่การกำหนดแนวทางในการการส่งเสริมและขับเคลื่อนการวิจัยและนโยบายเพื่อผลักดันการพัฒนาเทคโนโลยี CCUS และไฮโดรเจนของประเทศไทยต่อไป โดยมี บพข. และ บพค. เป็นหน่วยงานหลักในการสนับสนุนทุนสำหรับการวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยีดังกล่าวเพื่อการใช้ประโยชน์เชิงพาณิชย์ของประเทศไทย

Loading

Share this post


เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

ตั้งค่าความเป็นส่วนตัว

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
จัดการความเป็นส่วนตัว
  • เปิดใช้งานตลอด

บันทึกการตั้งค่า