นักวิจัย VISTEC เปิดเทคโนโลยีลูมอส ตรวจวัดสารกำจัดศัตรูพืชแบบแม่นยำ

นักวิจัย VISTEC เปิดเทคโนโลยีลูมอส ตรวจวัดสารกำจัดศัตรูพืชแบบแม่นยำ

กองทุน ววน. หนุนนักวิจัย VISTEC พัฒนาเทคโนโลยีลูมอส เพื่อตรวจวัดสารกำจัดศัตรูพืชแบบแม่นยำและมีประสิทธิภาพ เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม ย่อยสลายได้ ใช้งานง่ายและปลอดภัย อีกทั้งสามารถเปลี่ยนสารพิษตกค้างจากการเกษตรและอุตสาหกรรมให้เป็นสารที่มีมูลค่า พร้อมผลักดันให้เป็นวิธีตรวจวัดมาตรฐานสินค้าการเกษตรเพื่อยกระดับสินค้าทางการเกษตรของไทย

ศ. ดร.พิมพ์ใจ ใจเย็น สำนักวิชาวิทยาศาสตร์และวิศวกรรมชีวโมเลกุล สถาบันวิทยสิริเมธี เปิดเผยว่า กลุ่มวิจัยได้ริเริ่มพัฒนา “LUMOS-ลูมอส เทคโนโลยีตรวจวัดสารเคมีกำจัดศัตรูพืชแบบแม่นยำ” จากห้องปฏิบัติการ โดยใช้เอนไซม์เป็นตัวเร่งปฏิกิริยาชีวภาพที่สะอาดและเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม สามารถย่อยสลายได้ และเปลี่ยนสารพิษตกค้างในกระบวนการอุตสาหกรรมและการเกษตรให้เป็นสารที่มีมูลค่า เช่น สารกลุ่มลูซิเฟอริน ที่เรืองแสงได้เช่นเดียวกับหิ่งห้อย และพัฒนาต่อยอดเป็นเทคโนโลยีตรวจวัดสารพิษกลุ่มฟีนอล สารกำจัดศัตรูพืช และจุลินทรีย์ปนเปื้อนได้อย่างมีประสิทธิภาพ

งานวิจัยนี้ได้รับการสนับสนุนทุนวิจัยจากกองทุนส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (ววน.) ผ่านสถาบันวิทยสิริเมธี และหน่วยบริหารและจัดการทุนด้านการพัฒนากำลังคน และทุนด้านการพัฒนาสถาบันอุดมศึกษา การวิจัยและการสร้างนวัตกรรม (บพค.) เพื่อผลิตและจัดจำหน่ายในเชิงพาณิชย์ ภายใต้บริษัทสตาร์ตอัปที่มีชื่อว่า บริษัท ไบโอซินไทย ไบโอเทคโนโลยี จำกัด จนได้รับรางวัลผลงานประดิษฐ์คิดค้นระดับดีมาก และ ดร.ปรัชญา แวทไธสง หนึ่งในทีมวิจัยได้รับทุนสนับสนุนพัฒนาต้นแบบเทคโนโลยี โครงการนักประดิษฐ์ไทย นักประดิษฐ์โลก ประจำปี 2566 จากสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) รวมถึงการตีพิมพ์ในวารสารวิทยาศาสตร์ระดับนานาชาติ เพื่อยืนยันความน่าเชื่อถือ

“ทีมวิจัยได้พัฒนาต่อยอดจนไปถึงผู้ใช้งานจริงหรือลูกค้า โดยตั้งใจออกแบบเครื่องมือตรวจวัดแบบพกพา และชุดน้ำยาตรวจวัดลูมอส สำหรับการใช้งานนอกห้องปฏิบัติการได้ง่าย ไม่ซับซ้อน บุคคลทั่วไปสามารถใช้งานได้ รวมถึงเป็นชุดตรวจวัดเพื่อคัดกรองผลิตภัณฑ์ทางการเกษตร และติดตามการปนเปื้อนสารเคมีจากการเกษตรและอุตสาหกรรมในสิ่งแวดล้อมได้ มีความปลอดภัย แสดงผลแม่นยำ รวดเร็ว แต่บอกช่วงความเข้มข้นของสารเคมีปราบศัตรูพืชปนเปื้อนได้ โดยใช้อุปกรณ์ที่ไม่ซับซ้อน พกพาสะดวก เป็นเทคโนโลยีที่ทุกคนเข้าถึงง่าย กลุ่มเป้าหมายคือ เกษตรกร สหกรณ์การเกษตร ผู้ประกอบการส่งออกผลิตภัณฑ์ทางการเกษตร ฟาร์มเกษตรอินทรีย์ รวมทั้งเจ้าหน้าที่หรือหน่วยงานควบคุมการใช้สารเคมีปราบศัตรูพืช สำหรับสุ่มตรวจตัวอย่างอาหาร ผัก ผลไม้ หรือตัวอย่างสิ่งแวดล้อม”

ศ. ดร.พิมพ์ใจ หัวหน้าโครงการ กล่าวว่า ปัจจุบันเทคโนโลยีลูมอสได้นำไปใช้จริงในชุมชนตำบลปงสนุก จังหวัดน่าน เพื่อตรวจหาการปนเปื้อนสารเคมีกำจัดศัตรูพืช ยาฆ่าแมลงและยาฆ่าหญ้า ในแหล่งน้ำดื่ม น้ำใช้ และดินในพื้นที่การเกษตร เพื่อเฝ้าระวังการใช้สารเคมีกำจัดศัตรูพืชที่เกินขนาด ภายใต้โครงการเซียน (CAIN : Circular Innovation for Nan) โดยได้รับการสนับสนุนจากธนาคารกสิกรไทย นับเป็นอีกหนึ่งงานวิจัยที่ก่อให้เกิดประโยชน์ต่อผู้คนและชุมชน ช่วยพัฒนาคุณภาพชีวิตและรายได้ของเกษตรกร ด้วยการเพิ่มมูลค่าของสินค้าทางการเกษตร และมีตรารับรองความปลอดภัยของสินค้า อีกทั้งช่วยให้คุณภาพชีวิตของผู้บริโภคดีขึ้นจากการบริโภคผลิตภัณฑ์ที่มีคุณภาพและปลอดภัย ตลอดจนช่วยให้ชุมชนเกษตรกรรมเฝ้าระวังการใช้สารเคมีปราบศัตรูพืชเกินขนาด และคัดกรองสินค้าที่ปลอดภัยส่งต่อไปยังพ่อค้าคนกลางและผู้บริโภค เกิดเป็นชุมชนเกษตรกรรมที่เข้มแข็ง ทั้งนี้ทีมวิจัยจะผลักดันเทคโนโลยีลูมอสเป็นวิธีตรวจวัดมาตรฐานสินค้าการเกษตร เช่น GPA เพื่อยกระดับมาตรฐานสินค้าทางการเกษตรของเกษตรกรไทยต่อไป

Loading

Share this post


เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

ตั้งค่าความเป็นส่วนตัว

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
จัดการความเป็นส่วนตัว
  • เปิดใช้งานตลอด

บันทึกการตั้งค่า