นักวิจัยอียิปต์ นำฝุ่น PM2.5 ในตะวันออกกลาง มาวิเคราะห์ด้วยซินโครตรอนที่โคราช
นักวิจัยอียิปต์นำฝุ่น PM2.5 ในตะวันออกกลางและกรุงไคโร มาวิเคราะห์ด้วยแสงซินโครตรอนจากเครื่องกำเนิดในโคราช เพื่อทำความเข้าใจลักษณะเฉพาะของฝุ่นและโมเลกุลต่าง ๆ ที่ประกอบอยู่ในอนุภาคฝุ่น คาดหวังจะได้ข้อมูลที่เป็นประโยชน์ต่อการแก้ปัญหามลภาวะทางอากาศ
ศ.ดร.อับดัลลาห์ เอ.เชาท์ทูท (Prof. Dr. Abdallah A. Shaltout) อาจารย์จากภาควิชาสเปกโตรสโกปี สถาบันวิจัยฟิสิกส์ ศูนย์วิจัยแห่งชาติอียิปต์ พร้อมด้วย ดร.ซาฟาอ์ เอส.เอ็ม. อาลี (Dr.Safaa S.M. Ali) ผู้ช่วยวิจัยจากภาควิชาสเปกโตรสโกปี จากศูนย์วิจัยเดียวกัน ได้นำตัวอย่างฝุ่น PM2.5 ซึ่งเป็นตัวอย่างฝุ่นในแถบตะวันออกกลางและกรุงไคโรของอียิปต์ มาศึกษาด้วยเทคนิคการดูดกลืนรังสีเอกซ์ (XAS) ณ ระบบลำเลียงแสงที่ 7.2 ของสถาบันวิจัยแสงซินโครตรอน (องค์การมหาชน) ซึ่งตั้งอยู่ที่ จ.นครราชสีมา เพื่อทำความเข้าใจลักษณะเฉพาะของฝุ่นและโมเลกุลต่าง ๆ ที่ประกอบอยู่ในอนุภาคฝุ่น
ศ.ดร.อับดัลลาห์ เอ.เชาท์ทูท กล่าวว่า “โชคดีที่เราได้มาทำวิจัยที่นี่นาน 2 เดือน จึงมีเวลามากพอที่จะได้ศึกษาเรื่องอนุภาคฝุ่น ซึ่งมีอยู่ทั่วไปในชั้นบรรยากาศ ยิ่งอนุภาคฝุ่นมีขนาดเล็กมากจะยิ่งเข้าสู่ปอดของเราได้ง่ายขึ้นผ่านระบบหายใจ แล้วเข้าสู่กระแสเลือด ซึ่งจะสร้างปัญหาใหญ่หลวงต่อสุขภาพได้ เราได้ศึกษาปัญหามลภาวะและอนุภาคฝุ่นละเอียดมานานหลายปีแล้ว ในครั้งนี้เราได้นำตัวอย่างฝุ่นซึ่งมีฝุ่นขนาดเล็ก PM2.5 มาศึกษา ฝุ่นดังกล่าวสามารถเข้าสู่ระบบหายใจของเราได้ง่าย”
“เราประสบความสำเร็จในการจำแนกบางลักษณะของตัวอย่างฝุ่น แม้จะยังไม่ครบถ้วน แต่ก็หวังว่าข้อมูลที่ได้จะเป็นประโยชน์ต่อการแก้ปัญหามลภาวะทางอากาศ” ศ.ดร.อับดัลลาห์ เอ.เชาท์ทูท กล่าว และบอกด้วยว่า แสงซินโครตรอนให้ข้อมูลได้มากกว่าข้อมูลจากเครื่องมือทดสอบในห้องปฏิบัติการทั่วไป โดยวิเคราะได้ง่ายกว่า และให้ข้อมูลที่มีรายละเอียดมากกว่า
นอกจากการศึกษาฝุ่นขนาดเล็กแล้ว ศ.ดร.อับดัลลาห์ เอ.เชาท์ทูท และผู้ช่วยวิจัยยังนำตัวอย่างนิ่วในไตจากโรงพยาบาลในอียิปต์ มาวิเคราะห์ด้วยแสงซินโครตรอน เพื่อศึกษาลักษณะของนิ่วในไตซึ่งสามารถวิเคราะห์เข้าไปถึงแกนกลางของนิ่วและแต่ละชั้นของนิ่วได้ ซึ่งการเดินทางมาวิจัยที่ประเทศไทยของนักฟิสิกส์จากอียิปต์ครั้งนี้ ได้รับทุนสนับสนุนจากโครงการ LAAAMP (Lightsources for Africa, the Americas, Asia, Middle East and Pacific) โครงการที่เปิดโอกาสให้อาจารย์และนักศึกษาจากทั่วโลก ได้มีประสบการณ์ในการทำวิจัยด้วยแสงซินโครตรอน โดยได้ทำงานร่วมกับนักวิจัยสองท่านของสถาบันวิจัยแสงซินโครตรอน คือ ดร.สมชาย ตันชรากรณ์ และ ดร.วราภรณ์ ตัณฑนุช