นวัตกรรม “เครื่องชั่งน้ำหนักสัตว์ปีกอัจฉริยะ” ตอบโจทย์ Smart Farm ไทย

นวัตกรรม “เครื่องชั่งน้ำหนักสัตว์ปีกอัจฉริยะ” ตอบโจทย์ Smart Farm ไทย

กระทรวง อว. โดย บพข. หนุนทีมวิจัย ม.เกษตร พัฒนา “ระบบประเมินน้ำหนักออนไลน์อัจฉริยะ” ตอบโจทย์ความต้องการของอุตสาหกรรมฟาร์มสัตว์ปีก ลดภาระงานเกษตร ลดความเครียดของสัตว์จากการถูกรบกวน เพิ่มความแม่นยำ ยกระดับประสิทธิภาพการเลี้ยงสัตว์ปีก เติมเต็ม Ecosystem ให้ระบบ Smart Farm

อุตสาหกรรมฟาร์มสัตว์ปีกถือเป็นธุรกิจหลักของประเทศไทย โดยเฉพาะ “ไก่” ซึ่งเป็นสัตว์เศรษฐกิจที่มีมูลค่าการส่งออกเนื้อไก่สดแช่แข็งและเนื้อไก่แปรรูป ปีละกว่าหนึ่งแสนล้านบาท และมีสัดส่วนมากกว่า 95% ของปริมาณการส่งออกผลิตภัณฑ์ปศุสัตว์ ปัจจุบันทั่วโลกยังนิยมบริโภคโปรตีนจากเนื้อไก่สูงกว่าเนื้อสัตว์ประเภทอื่น ๆ ภาคการผลิตรวมถึงเกษตรกร จึงมีการนำเทคโนโลยีและนวัตกรรมต่าง ๆ เข้ามาเป็นตัวช่วยในการบริหารจัดการการเลี้ยงไก่ในฟาร์ม ในรูปแบบของ “สมาร์ต ฟาร์ม” (Smart Farm) หรือโรงเรือนเกษตรอัจฉริยะ เพื่อช่วยเพิ่มผลผลิต แก้ไขปัญหา เพิ่มความสะดวกสบาย ประหยัดเวลาและลดค่าใช้จ่าย

อย่างไรก็ดีระบบ Smart Farm ที่ใช้กันในปัจจุบัน ส่วนใหญ่จะเป็นอุปกรณ์ ไอโอที (IoT) ในการตรวจวัดและควบคุมสภาพแวดล้อมของโรงเรือนหรือควบคุมการให้อาหารและน้ำ แต่ยังมีอีกหนึ่งโจทย์ปัญหาสำคัญจากเกษตรกรผู้เลี้ยงไก่ นั่นก็คือ “การประเมินประสิทธิผลของการเลี้ยง” ที่ต้องอาศัยการชั่งน้ำหนักเพื่อวัดการเจริญเติบโตในแต่ละช่วงอายุของการเลี้ยง  ซึ่งปัจจุบันยังต้องใช้แรงงานคนในการสุ่มชั่งและจดบันทึกก่อนจะนำเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์  ทำให้สิ้นเปลืองทั้งเวลาและแรงงาน รวมถึงมีโอกาสในการกรอกข้อมูลผิดพลาด และยังเป็นการรบกวนสัตว์อีกด้วย

ทีมวิจัยจากมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ นำโดย “รศ.ดร.จิรศักดิ์ วงศ์เอกบุตร” จากภาควิชาฟิสิกส์ คณะวิทยาศาสตร์ จึงพัฒนาโครงการ “แพลตฟอร์มระบบประเมินน้ำหนักออนไลน์อัจฉริยะสำหรับอุตสาหกรรมฟาร์มสัตว์ปีก” ขึ้น เพื่อเป็นเครื่องมืออำนวยความสะดวกในการประเมินน้ำหนักสัตว์ปีกให้กับเกษตรกรทั้งรายย่อย และรายใหญ่ในอุตสาหกรรมฟาร์มสัตว์ปีก โดยใช้ความรู้และเทคโนโลยีด้านอิเล็กทรอนิกส์ การแปลงข้อมูล การส่งข้อมูลขึ้นระบบคลาวด์ และการนำข้อมูลมาแสดงผลทางคอมพิวเตอร์และโทรศัพท์มือถือ โครงการดังกล่าวได้รับการสนับสนุนทุนวิจัยจากกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) โดย “หน่วยบริหารและจัดการทุนด้านการเพิ่มความสามารถในการแข่งขันของประเทศ (บพข.)” แผนงานกลุ่มดิจิทัลแพลตฟอร์ม ร่วมกับ บริษัท แม็ก เทค คอนโทรล จำกัด ในปีงบประมาณ 2565

รศ.ดร.จิรศักดิ์ วงศ์เอกบุตร หัวหน้าโครงการฯ  เปิดเผยว่า  โครงการดังกล่าวเป็นผลต่อเนื่องมาจากการทำงานร่วมกับเกษตรกร ในการพัฒนาแพลตฟอร์มเพื่อดูข้อมูลต่าง ๆ ในโรงเรือนเลี้ยงสัตว์ปีก เช่น สภาพแวดล้อมในโรงเรือน และปริมาณการให้อาหาร แต่ยังขาดเรื่องการประเมินน้ำหนักสัตว์ ที่ปัจจุบันยังใช้การสุ่มจับชั่งด้วยมือ และจดบันทึกที่อาจคลาดเคลื่อนได้ง่าย ทั้งนี้ในแต่ละรอบการเลี้ยงสัตว์ปีก เช่น ไก่ จะใช้เวลาประมาณ 5 สัปดาห์  ต้องมีการชั่งทุกสัปดาห์รวม 5 ครั้ง โดยจะสุ่มชั่ง 100 ตัวอย่างต่อโรงเรือน  ซึ่งหากจะชั่งให้ครบ 1 โรงเรือนใน 1 ชั่วโมง จะต้องใช้แรงงานถึง  3 คน ในการจับชั่งโดยในฟาร์มขนาดเล็กจะมีไม่ต่ำกว่า  20 โรงเรือน ดังนั้นจึงใช้เวลาค่อนข้างมากและสิ้นเปลืองแรงงาน ขณะเดียวกันการจับสัตว์ขึ้นชั่งบ่อย ๆ จะมีผลต่อคุณภาพของสัตว์ ซึ่งอาจทำให้ได้รับบาดเจ็บหรือเกิดความเครียด หยุดไม่เข้ามากินอาหารได้

จากปัญหาดังกล่าวทีมวิจัย จึงพัฒนา “เครื่องชั่งน้ำหนักออนไลน์” ขึ้น เพื่อใช้เสมือนเป็นอุปกรณ์มาตรฐานในการเลี้ยงที่ติดตั้งในโรงเรือนตลอดเวลา และเป็นจุดเปลี่ยนของรูปแบบการประเมินน้ำหนัก จากเดิมที่ใช้การสุ่มจับชั่ง มาเป็นการให้ไก่ในโรงเรือนสามารถขึ้นเครื่องชั่งได้เองตามธรรมชาติและขึ้นชั่งได้เองตลอดเวลา โดยตัวอุปกรณ์ มีการออกแบบให้เป็นเครื่องชั่งดิจิทัล ที่ทำงานเหมือนกับที่ใช้กันอยู่ทั่วไป แต่มีการติดตั้งระบบ IoT เพิ่มเติม เพื่อที่จะแปลงข้อมูลน้ำหนักรายตัวของไก่ที่ขึ้นเหยียบ และส่งข้อมูลขึ้นระบบคลาวด์แบบเรียลไทม์ เกษตรกรสามารถดูข้อมูล และนำไปวิเคราะห์ ประเมินการเจริญเติบโต และวิเคราะห์คุณภาพของอาหารได้อย่างรวดเร็ว

“ระบบดังกล่าวเป็นแพลตฟอร์มที่ใช้งานง่ายทั้งเครื่องชั่ง (Hardware) และแอปพลิเคชัน (Software) โดยในส่วนของเครื่องชั่ง เพียงแค่เสียบปลั๊ก และกดปุ่มเปิดเครื่อง เครื่องชั่งก็สามารถทำงานได้ ส่วนแอปพลิเคชัน แสดงผลออนไลน์ได้แบบเรียลไทม์ ได้ข้อมูลน้ำหนักของสัตว์ที่ถูกต้องแม่นยำ เห็นอัตราการเจริญเติบโต เมื่อนำไปรวมกับข้อมูลอื่น ๆ ที่อยู่ในระบบ Smart  Farm เช่น สภาพแวดล้อมในโรงเรือน ปริมาณการให้น้ำและอาหาร หรือจำนวนสัตว์ จะช่วยทำให้สามารถบริหารจัดการฟาร์มได้อย่างสะดวก รวดเร็ว และมีประสิทธิภาพมากขึ้น”

ทั้งนี้ระบบดังกล่าวผ่านการทดสอบใช้งานจริงใน 3 ฟาร์มต้นแบบ คือ 1. ฟาร์มนครชัยศรี (ฟาร์มเป็ดเนื้อ) สังกัด บริษัท ซีพีเอฟ (ประเทศไทย) จำกัด (มหาชน) แผนกเป็ดเนื้อ 2. ฟาร์มไก่หลวงสุวรรณวาจกกสิกิจ สังกัดภาควิชาสัตวบาล คณะเกษตร มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ และ 3. ฟาร์มไก่ คุณวารุณี ฟาร์มไก่ประกันราคาในเครือของ CPF จังหวัดปราจีนบุรี  ปัจจุบันทีมวิจัยได้พัฒนาระบบประเมินน้ำหนักออนไลน์อัจฉริยะ ฯ ต้นแบบแล้วเสร็จเป็นที่เรียบร้อย โดยทีมวิจัยได้มีการออกแบบและพัฒนาเครื่องชั่งดิจิทัล ให้เหมาะสมกับพฤติกรรมของสัตว์ปีกอย่างต่อเนื่อง จนขณะนี้อยู่ในเวอร์ชัน 3 ที่พร้อมให้ผู้ประกอบการนำขยายผลเชิงพาณิชย์ ส่วนด้านซอฟต์แวร์ ได้มีการปรับปรุงต่อเนื่อง เพื่อให้สอดคล้องกับการใช้งานจริงในฟาร์ม ซึ่งอนาคตทีมวิจัยมีแผนที่จะมีการนำเทคโนโลยีเอไอ และระบบกล้อง มาใช้กับการประเมินน้ำหนักอีกด้วย

สำหรับการดำเนินการในอนาคต รศ.ดร.จิรศักดิ์ บอกว่า จะเป็นการสร้าง “แพลตฟอร์มระบบอัจฉริยะสำหรับบริหารจัดการธุรกิจอุตสาหกรรมฟาร์มสัตว์ปีก” ที่เกษตรกรสามารถดูข้อมูลต่าง ๆ ของการเลี้ยงสัตว์ปีกได้แบบออนไลน์เรียลไทม์ และครบวงจร ตั้งแต่ข้อมูลในฟาร์ม ซึ่งทีมวิจัยนอกจากจะพัฒนาระบบชั่งน้ำหนักออนไลน์ ทำให้ทราบน้ำหนักที่หน้าฟาร์มแล้ว แล้วยังมีการพัฒนาระบบควบคุมการจ่ายอาหาร ซึ่งเป็นต้นทุนในการเลี้ยง ส่วนระบบการขนส่ง ซึ่งมีความสำคัญโดยเฉพาะในประเทศไทยที่มีอากาศร้อน จะทำให้สัตว์ปีกที่จะไปสู่โรงงานชำแหละและแปรรูปผลิตภัณฑ์ เกิดการสูญเสียน้ำหนักระหว่างการขนส่งประมาณ 5-7% ทีมวิจัยได้พัฒนาระบบบริหารจัดการสภาพแวดล้อมในรถขนส่ง ซึ่งได้รับทุนสนับสนุนจาก บพข. แผนงานดิจิทัลแพลตฟอร์ม ในปี 2564 เพื่อช่วยลดการสูญเสียดังกล่าว พร้อมทั้งส่งข้อมูลการขนส่งไปยังโรงงานฯ ทำให้สามารถบริหารจัดการการขนส่งหน้าโรงงานได้อย่างสะดวก รวดเร็ว ขณะเดียวกันทางโรงงานฯ จะได้รับข้อมูลต่าง ๆ ทั้งข้อมูลวัตถุดิบ การประเมินคุณภาพ และข้อมูลการขนส่ง ทำให้สามารถวิเคราะห์ และวางแผนการในการบริหารจัดการการผลิตได้อย่างมีประสิทธิภาพ เรียกได้ว่าเป็นการสร้างแพลตฟอร์มอัจฉริยะที่เป็น “Ecosystem” ของอุตสาหกรรมฟาร์มสัตว์ปีกของประเทศไทย ซึ่งถือเป็นเป้าหมายหลักของทีมวิจัย และตอบรับเป้าหมายสำคัญของผู้ให้การสนับสนุนทุนอย่าง บพข. เพื่อเพิ่มความสามารถในการแข่งขันของอุตสาหกรรมไทย

Loading

Share this post


เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

ตั้งค่าความเป็นส่วนตัว

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
จัดการความเป็นส่วนตัว
  • เปิดใช้งานตลอด

บันทึกการตั้งค่า