“คุณศุภมาส” เผยความก้าวหน้าการสร้างเครื่องกำเนิดแสงซินโครตรอนเครื่องใหม่ระดับพลังงาน 3GeV ของไทย
เมื่อวันที่ 24 ตุลาคม 2566 คุณศุภมาส อิศรภักดี รมว.การอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) เปิดเผยว่า สถาบันวิจัยแสงซินโครตรอน (สซ.) ได้เปิดเผยถึงความก้าวหน้าโครงการสร้างเครื่องกำเนิดแสงซินโครตรอนเครื่องใหม่ระดับพลังงาน 3 พันล้านอิเล็กตรอนโวลต์ (GeV) ซึ่งจะเป็นเครื่องกำเนิดแสงซินโครตรอนเครื่องที่ 2 ของประเทศไทย ที่จะตั้งอยู่ในพื้นที่เขตนวัตกรรมระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (EECi) จ.ระยอง ทำให้ประเทศไทยเป็นศูนย์กลางวิจัยด้านเทคโนโลยีซินโครตรอนชั้นแนวหน้าในภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิกในอนาคต
ปัจจุบันสถานะโครงการอยู่ในระหว่างการนำเสนอคณะรัฐมนตรี เพื่อพิจารณาอนุมัติงบประมาณ และคาดว่าจะเปิดให้บริการแสงซินโครตรอนให้แก่ภาครัฐและเอกชนได้ภายใน พ.ศ. 2577
รมว.อว. กล่าวต่อว่า ประโยชน์ที่ประเทศจะได้รับจากการสร้างเครื่องกำเนิดแสงซินโครตรอนเครื่องที่ 2 คือ ผลงานจากการใช้ประโยชน์ที่จะเกิดขึ้นครอบคลุมในหลากหลายด้าน เช่น นวัตกรรมการเกษตร อาหารและสมุนไพร สิ่งแวดล้อม พลังงานสะอาดและพลังงานทดแทน อิเล็กทรอนิกส์อัจฉริยะ ชีวการแพทย์ เวชสำอางและสุขภาพ มรดกทางวัฒนธรรมและโบราณคดี เชื้อเพลิงชีวภาพและเคมีชีวภาพ วัสดุสำหรับการบินและอวกาศ เป็นต้น ซึ่งจะช่วยให้นักวิจัยและนักวิทยาศาสตร์ของประเทศ สามารถวิจัยได้เชิงลึกและหลากหลายมากยิ่งขึ้น เมื่อเปรียบเทียบกับเครื่องกำเนิดแสงซินโครตรอนเครื่องแรกที่มีระดับพลังงาน 1.2 GeV ซึ่งตั้งอยู่ จ.นครราชสีมา
“ยิ่งไปกว่านั้นประโยชน์อีกด้าน ของการสร้างเครื่องกำเนิดแสงซินโครตรอนเครื่องใหม่ คือการถ่ายทอดองค์ความรู้เพื่อผลิตชิ้นส่วนและอุปกรณ์ทางวิศวกรรมให้แก่ผู้ผลิตภายในประเทศ ยกระดับภาคอุตสาหกรรมไทยสู่การผลิตด้วยเทคโนโลยีขั้นสูงและลดการนำเข้าจากต่างประเทศ เนื่องจากเครื่องกำเนิดแสงซินโครตรอนเครื่องใหม่ผลิตภายในประเทศถึง 50% และสร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจจากอุตสาหกรรมใหม่กว่า 57,000 ล้านบาท โดยคนไทยสามารถซ่อมบำรุงและพัฒนาเครื่องกำเนิดแสงซินโครตรอนในอนาคตได้อย่างยั่งยืน และจะเกิดระบบนิเวศทางวิจัยและนวัตกรรม มีการขยายผลจากอุตสาหกรรมเดิม รองรับอุตสาหกรรมใหม่ สร้างอาชีพด้านวิทยาศาสตร์ วิศวกรรมและเทคโนโลยี เพื่อตอบโจทย์สังคมและคุณภาพชีวิตของประชาชน”
“โครงการดังกล่าวตอบโจทย์ยุทธศาสตร์ชาติ แผนแม่บท และแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ รวมถึงเป้าหมายในการพัฒนาประเทศและสังคมอย่างยั่งยืน ทั้งด้านการสร้างโครงสร้างพื้นฐานทางวิทยาศาสตร์ขั้นสูง พัฒนาบุคลากรในประเทศไทย สร้างความร่วมมือกับต่างประเทศ ส่งเสริมการเปลี่ยนแปลงเศรษฐกิจแบบดั้งเดิมให้เป็นเศรษฐกิจฐานวิจัยและนวัตกรรม สร้างความมั่นคงและศักยภาพในการพึ่งพาตนเอง สร้างมูลค่าเพิ่มให้ภาคอุตสาหกรรม และเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขัน เพื่อพัฒนาประเทศตามเป้าหมายยุทธศาสตร์ชาติ มั่นคง มั่งคั่ง ยั่งยืน ได้ในที่สุด”