คุณศุภมาส รมว.อว. ผลักดันเศรษฐกิจ AI จ่อเสนอตั้งคณะกรรมการ AI แห่งชาติชุดใหม่

คุณศุภมาส รมว.อว. ผลักดันเศรษฐกิจ AI จ่อเสนอตั้งคณะกรรมการ AI แห่งชาติชุดใหม่

เมื่อวันที่ 29 มกราคม 2567 คุณศุภมาส อิศรภักดี รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) เปิดเผยว่า ปัญญาประดิษฐ์ หรือ AI เป็นเทคโนโลยีเปลี่ยนโลก ที่กำลังกระทบทุกคน ทุกประเทศ เพราะถูกใช้ในแทบทุกอุตสาหกรรมและกลุ่มอาชีพ ตลอดจนในชีวิตประจำวันของทุกคน ไม่ใช่เพียงแค่การเป็นผู้ช่วยอัจฉริยะที่รอบรู้ เช่น ChatGPT หรือโปรแกรมสร้างรูปเหมือนจริงที่กำลังนิยมใช้กันเท่านั้น แต่ถูกใช้ในการตลาด โรงงานอุตสาหกรรม ไปจนถึงการแพทย์มาสักระยะหนึ่งแล้ว และกำลังขยายตัวอย่างรวดเร็ว จึงกล่าวได้ว่าเศรษฐกิจของประเทศจะได้รับผลกระทบโดยตรงจากเทคโนโลยี AI นี้ เช่นเดียวกับการที่เทคโนโลยีใหม่เปลี่ยนแปลงเศรษฐกิจในอดีตที่ผ่านมา ไม่ว่าจะเป็นการที่เทคโนโลยีเครื่องจักรกลก่อให้เกิดการปฏิวัติอุตสาหกรรมในช่วง พ.ศ. 2303 หรือเทคโนโลยีสารกึ่งตัวนำก่อให้เกิดการปฏิวัติอิเล็กทรอนิกส์ในช่วง พ.ศ. 2490 ที่แตกต่างคือ เทคโนโลยี AI นี้จะสร้างผลกระทบรุนแรงและรวดเร็วต่อเศรษฐกิจกว่าทุกเทคโนโลยีที่ผ่านมา

ดังนั้น ในฐานะประธานคณะกรรมการพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (กวทช.) จึงผลักดันให้มีการเริ่มจัดทำแผนการขับเคลื่อนการใช้ประโยชน์ AI ของประเทศ โดยในครั้งนี้ที่ประชุมซึ่งประกอบด้วย กรรมการจากผู้บริหารหน่วยงานภาครัฐและเอกชน เช่น อธิการบดี ข้าราชการระดับสูง CEO ปตท. SCG และไทยพาณิชย์ เป็นต้น ได้พิจารณาเห็นชอบร่างแผนการใช้ประโยชน์ AI พร้อมทั้งให้ความเห็นเชิงนโยบายก่อนนำเสนอคณะกรรมการ AI แห่งชาติต่อไป

โดยแผนนี้จะทำให้เกิดการส่งเสริมการใช้ประโยชน์ AI อย่างเป็นรูปธรรมเกิดประโยชน์สูงสุดกับประเทศและลดการเสียเปรียบทางเศรษฐกิจ โดยจะต้องใช้และพัฒนาผู้เชี่ยวชาญที่เป็นคนไทยให้มากที่สุดและเร็วที่สุด ควบคู่กับการนำเข้าเทคโนโลยี AI จากต่างประเทศ การทำงานต้องมีการวางแผน แบ่งงาน และร่วมมือกันอย่างเป็นระบบ พร้อมกลไกการสนับสนุนจากภาครัฐในจุดที่สำคัญ จึงจะประสบความสำเร็จในเชิงการใช้ประโยชน์และสร้างผลกระทบทางเศรษฐกิจของประเทศต่อไป

นอกจากนั้น คุณศุภมาส เปิดเผยว่า กระทรวง อว. ได้เตรียมรายชื่อคณะกรรมการขับเคลื่อนแผนปฏิบัติการด้านปัญญาประดิษฐ์แห่งชาติเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (National AI Committee) ชุดใหม่ ซึ่งมีนายกรัฐมนตรีเป็นประธาน เพื่อเสนอแต่งตั้งเป็นที่เรียบร้อยแล้ว โดยได้ร่วมมืออย่างใกล้ชิดกับกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (DE) และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง โดยกรรมการชุดนี้มีผู้อำนวยการสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ กระทรวง อว. เป็นเลขานุการร่วมกับเลขาธิการคณะกรรมการดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ กระทรวง DE

ศาสตราจารย์ ดร.ชูกิจ ลิมปิจำนงค์ ผู้อำนวยการ สวทช. กล่าวเสริมว่า สาระสำคัญที่ได้รับคำแนะนำจากคณะกรรมการในวันนี้มีประโยชน์ต่อการดำเนินงานเป็นอย่างมาก การเห็นชอบของคณะกรรมการ กวทช. ครั้งนี้เป็นจุดเปลี่ยนที่สำคัญในการลงรายละเอียดในการขับเคลื่อนแผนปฏิบัติการด้านปัญญาประดิษฐ์เพื่อการพัฒนาประเทศไทย พ.ศ. 2565-2570 (Thailand National AI Strategy) ซึ่งอาศัยกำลังทั้งจาก สวทช. และหน่วยงานพันธมิตร เพราะจากผลสำรวจความพร้อมในการใช้งานเทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ในประเทศไทย ในปี 2566 พบว่า มีหน่วยงานเพียง 15.2% จากกลุ่มตัวอย่างสำรวจที่ได้เริ่มมีการนำเทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์มาใช้งานแล้ว แสดงถึงความต้องการขับเคลื่อนผลักดันระบบนิเวศของเทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ภายในประเทศทั้งองคาพยพ

Loading

Share this post


เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

ตั้งค่าความเป็นส่วนตัว

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
จัดการความเป็นส่วนตัว
  • เปิดใช้งานตลอด

บันทึกการตั้งค่า