“คุณศุภมาส รมว.อว.” ผนึกความร่วมมือ กทม. จัดตลาดนัดนวัตกรรม 3 มุมเมือง ชูงานวิจัย นวัตกรรมแก้ไขปัญหา นำกรุงเทพฯ สู่เป้าหมาย “เมืองนวัตกรรมและน่าอยู่สำหรับทุกคน” (Innovative and Livable City for All)

“คุณศุภมาส รมว.อว.” ผนึกความร่วมมือ กทม. จัดตลาดนัดนวัตกรรม 3 มุมเมือง ชูงานวิจัย นวัตกรรมแก้ไขปัญหา นำกรุงเทพฯ สู่เป้าหมาย “เมืองนวัตกรรมและน่าอยู่สำหรับทุกคน” (Innovative and Livable City for All)

คุณศุภมาส อิศรภักดี รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) พร้อมด้วยคุณสุชาดา แทนทรัพย์ เลขานุการ รมว.อว. เปิดงาน “ตลาดนัดนวัตกรรม 3 มุมเมือง” ซึ่งเป็นการทำงานระหว่างหน่วยงานภายใต้กระทรวง อว. สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (สกสว.) หน่วยบริหารและจัดการทุนด้านการพัฒนาระดับพื้นที่ (บพท.) สำนักงานสภานโยบายการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมแห่งชาติ (สอวช.) รวมถึงหน่วยบริหารและจัดการทุนอื่น ๆ ร่วมกับกรุงเทพมหานคร ในการนำผลงานวิจัยและนวัตกรรมของ อว. ไปใช้ประโยชน์ และสนับสนุนการทำงานของ กทม. โดยงานนี้จัดขึ้นที่หอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร ระหว่างวันที่ 1–3 กุมภาพันธ์ 2567

คุณศุภมาส กล่าวว่า การเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นในปัจจุบัน ทำให้เมืองประสบกับปัญหาในหลายด้าน ทั้งด้านสิ่งแวดล้อม ภัยธรรมชาติและมลภาวะที่ส่งผลต่อการอยู่อาศัย ภาวะความยากจน ภาวะความเหลื่อมล้ำทางการศึกษา ภาวะความปลอดภัย ภาวะผู้สูงอายุเพิ่มมากขึ้น ภาวะความเหลื่อมล้ำด้านการบริการสาธารณสุข การป้องกันและแก้ไขปัญหาในมิติดังกล่าว จึงจำเป็นต้องมีงานวิจัยและนวัตกรรมเข้าไปช่วยสนับสนุน ซึ่งกระทรวง อว. มีผลงานวิจัยและนวัตกรรมพร้อมใช้จำนวนมาก ตัวอย่างเช่น ทราฟฟี่ฟองดูว์ แพลตฟอร์มบริหารจัดการปัญหาเมืองที่ประชาชนทุกคนสามารถแจ้งปัญหาที่เจอ เพื่อให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องช่วยแก้ไขให้ได้อย่างตรงจุด เช่น ปัญหาความสะอาด ไฟฟ้า ประปา ทางเท้า

ภายในงาน จัดพื้นที่แบ่งเป็น 3 โซน เพื่อสะท้อนถึงโจทย์ปัญหาสำคัญใน 3 มุมเมือง ประกอบด้วย เมืองนวัตกรรมการเรียนรู้ (Learning City) เมืองน่าอยู่อย่างชาญฉลาด (Smart and Livable City) และเมืองนวัตกรรมสำหรับทุกคน (Innovative City for All) นอกจากนี้ยังมีการเสวนาที่จัดต่อเนื่องตลอด 3 วัน ทั้งหมด 15 ช่วง โดยวิทยากร 57 ท่าน จาก 22 หน่วยงาน รวมถึงมีกิจกรรมพิเศษ Workshop จัดโดยสภาเด็กและเยาวชน ที่จะมาระดมความคิดเห็นในการออกแบบการพัฒนาเมือง และการประกาศแนวทางให้ทุนวิจัยสำหรับการพัฒนาเมืองและชุมชนด้วย

รมว.อว. ยังได้กล่าวถึงผลงานนวัตกรรมจำนวนมากที่นำมาจัดแสดงในงานครั้งนี้รวมกว่า 45 ผลงาน ใน 3 บูท อาทิ

  1. ด้านสิ่งแวดล้อมและภัยพิบัติ มีเครื่องตรวจวัดคุณภาพอากาศ วัดฝุ่นละอองขนาดเล็ก PM2.5 และ PM10 แบบเซนเซอร์ อุปกรณ์ตรวจวัดการสั่นสะเทือนโครงสร้างอาคารและระบบแจ้งเตือนภัย เพื่อทำให้ชาวกรุงเทพฯ อยู่อาศัยอย่างปลอดภัยขึ้น
  2. ด้านสุขภาพ มีย่านนวัตกรรมการแพทย์โยธี เป็นพื้นที่ที่ได้รับการส่งเสริมการลงทุนด้านการแพทย์และมีการทำงานร่วมกันระหว่างโรงพยาบาล เพื่อทำให้การดูแลและส่งต่อผู้ป่วยทำได้รวดเร็ว และสามารถเข้าถึงบริการด้านการแพทย์ได้ดีขึ้น
  3. ด้านสังคม มีแอปพลิเคชันบริการรถแท็กซี่สำหรับผู้สูงอายุ มีต้นแบบเผยแพร่วัฒนธรรมไทย-จีน จากมุมมองของคน 3 ช่วงวัย เพื่อให้เมืองดูแลกลุ่มเปราะบางได้ครอบคลุม
  4. ด้านเศรษฐกิจ มีแอปพลิเคชันระบบบัญชีอัจฉริยะ แพลตฟอร์มข้อมูลชี้เป้าครัวเรือนยากจน เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการจัดการปัญหาแบบมุ่งเป้าเบ็ดเสร็จ
  5. ด้านการศึกษาและการเรียนรู้ มีแพลตฟอร์มการพัฒนาเมืองแห่งการเรียนรู้ มีแอปพลิเคชันคัดกรองเด็กที่มีความลำบากในการอ่าน เพื่อเพิ่มผลสัมฤทธิ์ทางการศึกษาของเด็กและเยาวชนเพิ่มขึ้น

ทั้งนี้ รมว.อว. ได้มอบนโยบายการพัฒนาเมืองให้กับหน่วยงานในกระทรวง อว. ไว้ 4 เรื่อง เพื่อเป็นทิศทางการดำเนินงานร่วมกัน คือ

  1. เร่งรัดการนำงานวิจัยและนวัตกรรมไปช่วยในการพัฒนาเมืองในทุกมิติ โดยให้ใช้ศักยภาพด้านการวิจัยและนวัตกรรมของ อว. สนับสนุนการทำงานของทุกภาคส่วนทั้งรัฐ เอกชน และชุมชน สำหรับ กทม. ให้ทำงานร่วมกับ Bangkok City Lab และส่วนงานอื่น ๆ ในการนำโจทย์ความต้องการมา จับคู่กับผลงานวิจัยของ อว. ที่เหมาะสม เพื่อให้เกิดการนำผลงานวิจัยและนวัตกรรมไปใช้ประโยชน์ในวงกว้าง และมุ่งพัฒนาความร่วมมือกับผู้ใช้ประโยชน์จากงานวิจัยโดยตรง
  2. สนับสนุนการพัฒนาต้นแบบเมืองหรือย่าน (City Sandbox) ด้วยงานวิจัยและนวัตกรรม เพื่อส่งเสริมให้เกิดการสร้างนวัตกรรม เช่น ย่านนวัตกรรมการแพทย์โยธี รวมถึงการสนับสนุนให้นำผลงานด้านศิลปวัฒนธรรม มาส่งเสริมให้เกิดย่านวัฒนธรรม ซึ่งจะเป็นการกระตุ้นเศรษฐกิจของชุมชน ยกระดับคุณภาพชีวิต ไปพร้อม ๆ กับการรักษาเอกลักษณ์ความเป็นไทย
  3. สนับสนุนการจัดทำข้อมูล (City Data Platform) ที่สามารถสะท้อนถึงสุขภาพเมือง ทำให้สามารถคาดการณ์อนาคต และแก้ปัญหาได้ตรงจุด เช่น ตัวชี้วัดการพัฒนาเมือง แพลตฟอร์มข้อมูลชี้เป้าครัวเรือนยากจน ฐานข้อมูลพื้นที่เสี่ยง อาคารสูง และการจัดการภัยพิบัติ
  4. สนับสนุนการสร้างผู้นำท้องถิ่นและผู้นำเมืองยุคใหม่ เพื่อเป็นผู้นำการเปลี่ยนแปลงในพื้นที่ผ่านหลักสูตรที่มีชุดความรู้ที่ได้จากการวิจัยและนวัตกรรม

“ดิฉันขอขอบคุณผู้จัดงานจากทุกภาคส่วนโดยเฉพาะกรุงเทพมหานคร และหน่วยงานร่วมจัดงานของ อว. ที่ร่วมแรงร่วมใจทำให้เกิดงานนี้ขึ้นมา ดิฉันมั่นใจว่า กระทรวง อว. มีผลงานวิจัยและนวัตกรรม มีบุคลากร มีโครงสร้างพื้นฐานที่พร้อมจะสนับสนุนการทำงานของ กทม. และทำให้เกิดการทำงานร่วมกันระหว่าง อว. และ กทม. ในระยะยาว เพื่อผลักดันให้ กทม. เป็น “เมืองนวัตกรรมและน่าอยู่สำหรับทุกคน (Innovative and Livable City for All)” รมว.อว. กล่าวทิ้งท้าย

Loading

Share this post


เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

ตั้งค่าความเป็นส่วนตัว

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
จัดการความเป็นส่วนตัว
  • เปิดใช้งานตลอด

บันทึกการตั้งค่า