ความร่วมมือ การพัฒนาและขับเคลื่อนอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวไทย ด้วยงานวิจัยการท่องเที่ยวและเศรษฐกิจสร้างสรรค์

ความร่วมมือ การพัฒนาและขับเคลื่อนอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวไทย ด้วยงานวิจัยการท่องเที่ยวและเศรษฐกิจสร้างสรรค์

สกสว. บพข. ททท. จับมือ ATTA พร้อมด้วย 8 สมาคมธุรกิจท่องเที่ยว ขับเคลื่อนอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวไทยด้วยงานวิจัยด้านการท่องเที่ยว มุ่งสู่เศรษฐกิจมูลค่าสูง เน้นความยั่งยืน และเพิ่มรายได้ของประเทศ

สํานักงานคณะกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (สกสว.) หน่วยบริหารและจัดการทุนด้านการเพิ่มความสามารถในการแข่งขันของประเทศ (บพข.) การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) สมาคมไทยธุรกิจท่องเที่ยว(ATTA) สมาคมไทยบริการท่องเที่ยว (TTAA) สมาคมธุรกิจท่องเที่ยวภายในประเทศ (สทน.) สมาคมมัคคุเทศก์อาชีพแห่งประเทศไทย (PGAT) สมาคมผู้ประกอบการรถขนส่งทั่วไทย (สปข.) สมาคมส่งเสริมการประชุมนานาชาติ (ไทย) (TICA) สมาคมส่งเสริมการท่องเที่ยวไทย ญี่ปุ่น (T-JTA) สมาคมไทยท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์และผจญภัย (TEATA) และสมาคมโรงแรมไทย (THA) จัดพิธีลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือการพัฒนาและขับเคลื่อนอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวไทยด้วยงานวิจัยการท่องเที่ยวและเศรษฐกิจสร้างสรรค์ เมื่อวันที่ 12 ตุลาคม 2565

เพื่อยกระดับศักยภาพของอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวตลอดห่วงโซ่คุณค่า (Value Chain) อย่างยั่งยืนบนฐานทรัพยากรของประเทศ และสอดคล้องตามแผนวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม พ.ศ. 2566-2570 (ววน.) ในด้านการพัฒนาการท่องเที่ยวและเศรษฐกิจสร้างสรรค์ตามแนวทางการพัฒนาระบบเศรษฐกิจชีวภาพ-เศรษฐกิจหมุนเวียน-เศรษฐกิจสีเขียว (Bio-Circular-Green Economy: BCG) ในด้านการท่องเที่ยวให้เป็นระบบเศรษฐกิจมูลค่าสูง มีความยั่งยืนและเพิ่มรายได้ของประเทศ ผ่านการทำงานและขับเคลื่อนร่วมกันตามบทบาทภารกิจของแต่ละหน่วยงาน โดยใช้กลไกการสนับสนุนการวิจัยตามความต้องการของภาคเอกชนและเกิดผลกระทบในวงกว้าง

รศ.ดร. ปัทมาวดี โพชนุกูล ผอ.สกสว. กล่าวว่า สกสว. ในฐานะผู้บริหารแผนงาน ววน. และจัดสรรงบประมาณการวิจัย ได้ตระหนักถึงความสำคัญของการขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศ โดยใช้การท่องเที่ยวเป็นเครื่องมือ จึงได้บรรจุ แผนงานสำคัญ ภายใต้แผนด้านวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม ปี 2566-2570 โดยมีการท่องเที่ยวเป็นหมุดหมายสำคัญของประเด็นยุทธศาสตร์ที่ 1 ที่มีจุดมุ่งเน้นให้แผนงานวิจัยการท่องเที่ยวและเศรษฐกิจสร้างสรรค์เป็นระบบเศรษฐกิจมูลค่าสูง มีความยั่งยืนและเพิ่มรายได้ของประเทศ

รศ.ดร.สิรี ชัยเสรี ผอ.บพข. เปิดเผยว่า หน่วยบริหารและจัดการทุนด้านการเพิ่มความสามารถในการแข่งขันของประเทศ (บพข.) มีหน้าที่จัดสรรทุนวิจัย และสร้างนวัตกรรมเพื่อเพิ่มความสามารถในการแข่งขันของทั้งภาคการผลิตและภาคบริการ โดยหนึ่งในภาคบริการที่สำคัญคือ ภาคอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวและบริการ บพข. มีแผนงานการท่องเที่ยวและเศรษฐกิจสร้างสรรค์ที่พร้อมยกระดับการท่องเที่ยวมูลค่าสูง ทั้งในการท่องเที่ยวบนฐานมรดกทางธรรมชาติและมรดกทางวัฒนธรรม การท่องเที่ยวเชิงสุขภาพ รวมทั้งเศรษฐกิจสร้างสรรค์ เพื่อเพิ่มมูลค่าทางเศรษฐกิจและเพิ่มรายได้ให้กับประเทศ โดยเน้นการทำงานเชิงบูรณาการร่วมกันระหว่างภาควิชาการกับผู้ประกอบการ ที่มีบทบาทสำคัญในการขับเคลื่อนอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวไทยด้วยการยกระดับศักยภาพ เพิ่มความสามารถในการแข่งขันสู่การสร้างเศรษฐกิจมูลค่าสูง สร้างความยั่งยืน และสร้างรายได้ให้กับประเทศต่อไป

ดร.ยุทธศักดิ์ สุภสร ผู้ว่าการการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) กล่าวว่า สำหรับการขับเคลื่อนการท่องเที่ยวไทยด้วยงานวิจัยด้านการท่องเที่ยวและเศรษฐกิจสร้างสรรค์ ถือว่าเป็นกรอบความร่วมมือสำคัญ  ของหน่วยงานที่มีการบูรณาการร่วมกันที่จะกำหนดกรอบวิจัย โดย ททท. มีความพร้อมในการสนับสนุนทั้งด้านตลาด ด้านบุคลากร รวมทั้งเครื่องมือต่าง ๆ เพื่อให้เกิดสัมฤทธิ์ผลอย่างเป็นรูปธรรมตามความมุ่งหมายความตั้งใจของทุกฝ่ายที่ต้องการพัฒนาและขับเคลื่อนอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวไทยไปสู่มิติใหม่ ๆ ซึ่งถือเป็นบทบาทสำคัญภายหลังสถานการณ์โควิด-19 โดย ททท. พร้อมเป็นส่วนหนึ่งในความสำเร็จที่จะเกิดขึ้นในอนาคต

คุณศิษฎิวัชร ชีวรัตนพร นายกสมาคมไทยธุรกิจการท่องเที่ยว ระบุว่า สมาคมไทยธุรกิจการท่องเที่ยว (ATTA) รวมทั้งสมาคมไทยบริการท่องเที่ยว สมาคมธุรกิจท่องเที่ยวภายในประเทศ สมาคมมัคคุเทศก์อาชีพแห่งประเทศไทย สมาคมผู้ประกอบการรถขนส่งทั่วไทย สมาคมส่งเสริมการประชุมนานาชาติ(ไทย) สมาคมส่งเสริมการท่องเที่ยวไทย-ญี่ปุ่น สมาคมไทยท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์และผจญภัย และสมาคมโรงแรมไทย ที่ร่วมลงนามในวันนี้ รู้สึกยินดีที่ได้ร่วมกับ สกสว. และ บพข. สร้างงานวิจัยที่มุ่งเน้นการบูรณาการระหว่างภาควิชาการ และภาคผู้ประกอบการเพื่อฟื้นฟูอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวหลังโรคระบาดโควิด-19 กว่าสองปีที่ผ่านมา เพื่อยกระดับศักยภาพการแข่งขันให้แก่องค์กรภาคเอกชนด้านการท่องเที่ยวในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศ และเชื่อมั่นว่าภาคผู้ประกอบการจะได้รับความรู้เชิงวิชาการจากการทำงานร่วมกันครั้งนี้ มาเสริมความแข็งแกร่งให้กับอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวไทยให้เจริญก้าวหน้าต่อไปอย่างมั่นคงและยั่งยืน

ภายในงานมีการเปิดเวทีเสวนา ขับเคลื่อนอุตสาหกรรมท่องเที่ยวไทย ด้วยงานวิจัยการท่องเที่ยวและเศรษฐกิจสร้างสรรค์ บพข.-สกสว. กองทุนส่งเสริม ววน. ในวงเสวนาได้พูดคุยถึงความสำเร็จของการนำผลการวิจัยไปใช้ต่อยอดและขยายผลในหลากหลายมิติ ประกอบด้วย

  1. เจ็ดลุ่มน้ำเสน่ห์สำรับไทย ไม่ว่าใครก็หลงรัก : การท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรมอาหาร โดย ดร.สัญชัย เกียรติทรงชัย มหาวิทยาลัยราชภัฏเลย
  2. Trip เส้นทางรถไฟ สายประวัติศาสตร์ Lanna Modernization เชียงใหม่ ลำพูน ลำปาง โดย ผศ.ดร.ณัฐนันท์ ฐิติยาปราโมทย์ มหาวิทยาลัยราชภัฏลำปาง
  3. สุคนธจิตศาสตร์ : อัตลักษณ์สปาล้านนา ยกระดับคุณค่าสู่สากล โดย ศ.ดร.อารีวรรณ กลั่นกลิ่น สถาบันการจัดการปัญญาภิวัฒน์
  4. แบ่งปันประสบการณ์ กับการทำงานเครือข่าย มุ่งเป้าสู่หมุดหมายการท่องเที่ยวคาร์บอนสุทธิเป็นศูนย์ โดย คุณนิพัทธ์พงษ์ ชวนชื่น อุปนายกสมาคมท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์และผจญภัย (TEATA)
  5. ต่อยอดและขยายผลจากคุณค่าการท่องเที่ยวโดยชุมชนย่านเมืองเก่าภูเก็ต สู่การเพิ่มมูลค่าเศรษฐกิจการท่องเที่ยวไทย โดย คุณสมยศ ปาทาน ประธานวิสาหกิจชุมชนเมืองเก่าภูเก็ต
  6. ปัจจัยความสำเร็จในการขับเคลื่อนอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวไทยด้วยงานวิจัยการท่องเที่ยวและเศรษฐกิจสร้างสรรค์ โดย ดร.อดิษฐ์ ชัยรัตนานนท์ เลขาธิการสมาคมไทยธุรกิจท่องเที่ยว

ผศ.สุภาวดี โพธิยะราช ผู้เชี่ยวชาญอาวุโส สกสว. และประธานอนุกรรมการกลุ่มการท่องเที่ยวและเศรษฐกิจสร้างสรรค์ บพข. ผู้ดำเนินการเสวนา กล่าวให้ความเชื่อมั่นว่า ผลจากการดำเนินงานวิจัยที่ สกสว. และ บพข. ได้ดำเนินการร่วมกับภาคีเครือข่ายและชุนชนพื้นที่ที่เกี่ยวข้อง ทั้งแผนงานการท่องเที่ยวมูลค่าสูง ประกอบด้วย การท่องเที่ยวบนฐานมรดกทางธรรมชาติ/เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม/คาร์บอนสุทธิเป็นศูนย์ การท่องเที่ยวเชิงสุขภาพ และการยกระดับความสามารถในการแข่งขันทางการท่องเที่ยว รวมทั้ง แผนงานเศรษฐกิจสร้างสรรค์ สามารถหนุนเสริมการบริหารจัดการของผู้ประกอบการเพื่อยกระดับและขับเคลื่อนอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวและบริการจากฐานงานวิจัยไปสู่เศรษฐกิจมูลค่าสูง เน้นความยั่งยืน เพิ่มรายได้ตามเป้าหมายของประเทศ ตามนโยบาย สกสว. ที่มุ่งเน้นการขับเคลื่อนภูมิภาคทั่วไทยด้วยวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม

Loading

Share this post


เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

ตั้งค่าความเป็นส่วนตัว

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
จัดการความเป็นส่วนตัว
  • เปิดใช้งานตลอด

บันทึกการตั้งค่า