ครบรอบ 5 ทศวรรษ การประชุมวิชาการนานาชาติด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและนวัตกรรมทางเทคโนโลยี “STT50” ประเทศไทยพร้อมต้อนรับนักวิทยาศาสตร์จากทั่วโลกเยือนเชียงใหม่

ครบรอบ 5 ทศวรรษ การประชุมวิชาการนานาชาติด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและนวัตกรรมทางเทคโนโลยี “STT50” ประเทศไทยพร้อมต้อนรับนักวิทยาศาสตร์จากทั่วโลกเยือนเชียงใหม่

เมื่อวันที่ 27 เมษายน 2567  ประเทศไทยเตรียมพร้อมต้อนรับผู้แทนและผู้เชี่ยวชาญจากทั่วโลกและทั่วประเทศ เข้าร่วมการประชุมวิชาการนานาชาติด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และนวัตกรรมทางเทคโนโลยี ครั้งที่ 50 (The 50th International Congress on Science, Technology and Technology-based Innovation (STT50)) ระหว่างวันที่ 25-27 พฤศจิกายน 2567 ณ โรงแรมดิเอ็มเพรส จังหวัดเชียงใหม่ การประชุมวิชาการในครั้งนี้ จัดโดย สมาคมวิทยาศาสตร์แห่งประเทศไทยในพระบรมราชูปถัมภ์ ร่วมกับคณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ โดยมีเป้าหมายสำคัญ เพื่อผสานความร่วมมือของนักวิทยาศาสตร์จากทั่วโลก ในการปฏิวัติวงการวิทยาศาสตร์ ด้วยการผสานความคิดสร้างสรรค์เข้ากับนวัตกรรม ภายใต้แนวความคิด “Science x Creativity : Crafting the World”

STT50 เป็นการประชุมนานาชาติที่มุ่งเน้นการส่งเสริมความร่วมมือและการขับเคลื่อนด้านนวัตกรรม ซึ่งภายในงานจะมีการแสดงปาฐกถาพิเศษ โดยนักวิทยาศาสตร์ชั้นนำระดับโลก ตลอดจนการนำเสนอผลงานวิชาการแบบปากเปล่า และโปสเตอร์ใน 5 สาขาวิชาหลัก ได้แก่ 1) ฟิสิกส์ 2) วิทยาศาสตร์ชีวภาพ 3) เคมี 4) คณิตศาสตร์ 5) พลังงานและสิ่งแวดล้อม และ 6) อาหารและวิทยาศาสตร์การเกษตร นอกจากนี้ ผู้เข้าร่วมการประชุมยังสามารถเข้าร่วมการประชุมย่อย ซึ่งจะได้มีส่วนร่วมในการแบ่งปันข้อมูลเชิงลึกเกี่ยวกับการรับมือกับความท้าทายระดับโลก และการขับเคลื่อนการเปลี่ยนแปลงเชิงบวก ผ่านนวัตกรรมทางเทคโนโลยี โดยจะครอบคลุมหัวข้อที่สำคัญต่าง ๆ มากมาย ตั้งแต่การใช้ประโยชน์จากวิทยาศาสตร์ข้อมูลและดิจิทัล (รวมถึง Generative AI) ตลอดจนความท้าทายและโอกาสในด้านวิทยาศาสตร์สิ่งแวดล้อมและสภาพภูมิอากาศ เพื่อการฟื้นฟูระบบนิเวศทางธรรมชาติ, รังสีคอสมิก และความหลากหลายทางชีวภาพของจุลินทรีย์และการแพทย์ เป็นต้น

รศ.ดร.ธณัฏฐ์คุณ มงคลอัศวรัตน์ นายกสมาคมวิทยาศาสตร์แห่งประเทศไทยในพระบรมราชูปถัมภ์ กล่าวว่า การประชุมวิชาการนานาชาติด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และนวัตกรรมทางเทคโนโลยี (STT) เป็นหนึ่งในการประชุมทางวิทยาศาสตร์ที่สำคัญที่สุดในประเทศไทย จัดขึ้นครั้งแรกเมื่อปี 2517 หลังจากนั้นมหาวิทยาลัยต่าง ๆ ก็ได้หมุนเวียนกันเป็นเจ้าภาพร่วมในการจัดงานอย่างต่อเนื่อง ภายในงานนอกจากจะมีการนำเสนอผลงานทางวิชาการ การประชุมย่อย และการบรรยายพิเศษจากนักวิทยาศาสตร์ระดับโลกแล้ว ยังมีการมอบรางวัลทางด้านวิทยาศาสตร์ รวมถึงการออกบูทนิทรรศการ เครื่องมือทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีขั้นสูงจากบริษัทต่าง ๆ อีกด้วย โดยตลอดระยะเวลา 5 ทศวรรษ ของการประชุม STT ได้เปิดโอกาสให้นักวิทยาศาสตร์และนักเทคโนโลยีมากมาย ได้มาแบ่งปันข้อมูล ความเชี่ยวชาญ และสร้างเครือข่ายทั้งในระดับชาติและนานาชาติ เพื่อร่วมกันสรรค์สร้างองค์ความรู้และนวัตกรรมใหม่ ๆ ซึ่งจะเป็นรากฐานสำคัญในการพัฒนาประเทศและสร้างประโยชน์ในวงกว้างต่อไป

ศ.ดร.ประณัฐ โพธิยะราช ประธานการจัดงาน STT50 กล่าวถึงแนวคิดการจัดงานในปีนี้ว่า “คณะกรรมการจัดงานได้ร่วมกันกำหนดแนวคิดหลักของการจัดงาน STT50 คือ “Science x Creativity : Crafting the World” หรือวิทยาศาสตร์ X การสร้างสรรค์ : รังสรรค์โลก โดยมุ่งเน้นการผสานองค์ความรู้ทางวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และนวัตกรรม เข้ากับความคิดสร้างสรรค์ เพื่อก่อให้เกิดการค้นหาและต่อยอดความรู้ใหม่ ๆ ที่ไม่ถูกจำกัดอยู่ในกรอบเดิม ๆ ซึ่งจะเห็นได้ว่า ในปัจจุบันมีงานด้านวิทยาศาสตร์เชิงสร้างสรรค์มากมายที่จะพลิกโลกได้ในอนาคต เช่น หุ่นยนต์ ปัญญาประดิษฐ์ นวัตกรรมที่ได้แรงบันดาลใจจากธรรมชาติ รวมถึงการนำองค์ความรู้ด้านวิทยาศาสตร์ไปแผ่ขยายสู่สังคม ผ่านการสื่อสารวิทยาศาสตร์ ซึ่งกำลังได้รับความสนใจอย่างกว้างขวาง โดยในการประชุมครั้งนี้มีการประชุมย่อยหลากหลายหัวข้อ ที่สนับสนุนแนวคิดดังกล่าว เช่น Generative AI หรือปัญญาประดิษฐ์ที่ออกแบบมาให้สามารถสร้างสรรค์เนื้อหาใหม่ ๆ คล้ายกับสมองซีกขวามนุษย์ และ Science Communication หรือการสื่อสารวิทยาศาสตร์ ที่ต้องใช้ความคิดสร้างสรรค์ควบคู่กับความรู้ทางวิทยาศาสตร์ เพื่อให้สามารถถ่ายทอดคุณค่าของวิทยาศาสตร์สู่สังคมได้อย่างกว้างขวาง”

ศ. (เชี่ยวชาญพิเศษ) ดร.ธรณินทร์ ไชยเรืองศรี คณบดีคณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ กล่าวว่า “ในนามของคณะวิทยาศาสตร์ รู้สึกยินดีเป็นอย่างยิ่งที่ได้รับเกียรติ ให้เป็นเจ้าภาพร่วมจัดการประชุม STT50 เพราะนอกจากจะเป็นการเฉลิมฉลองครบรอบ 5 ทศวรรษของการประชุม วทท. แล้ว ยังเป็นโอกาสพิเศษในการเฉลิมฉลองครบรอบ 60 ปี แห่งการก่อตั้งคณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ในปี 2567 นี้ อีกด้วย ทั้งนี้ คณะวิทยาศาสตร์ได้รับเกียรติให้เป็นเจ้าภาพร่วมในการจัดประชุม STT มาแล้ว 5 ครั้ง คือ พ.ศ. 2521, 2527, 2532, 2540 และ 2555 ตามลำดับ และขณะนี้คณะวิทยาศาสตร์อยู่ระหว่างดำเนินการเตรียมความพร้อมทั้งทางด้านวิชาการ และการต้อนรับผู้เข้าร่วมการประชุมจากทั้งในและต่างประเทศ ที่คาดว่าจะมาเข้าร่วมประชุมเป็นจำนวนมาก โดยมีความมั่นใจว่าการประชุมวิชาการในครั้งนี้ จะสามารถสร้างผลกระทบในเชิงบวก และก่อให้เกิดเครือข่ายความร่วมมือทางด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีอย่างกว้างขวาง รวมทั้งมีผลงานวิชาการอันโดดเด่นที่สามารถต่อยอดเพื่อสร้างคุณประโยชน์ให้กับเศรษฐกิจสังคมต่อไป”

ผู้สนใจสามารถส่งบทคัดย่อและบทความฉบับเต็มเข้าร่วมนำเสนอผลงาน ได้จนถึงวันที่ 31 กรกฎาคม 2567 และสามารถลงทะเบียนล่วงหน้าได้ตั้งแต่วันนี้ จนถึงวันที่ 30 กันยายน 2567 ติดตามรายละเอียดเพิ่มเติมและลงทะเบียนเข้าร่วมการประชุมได้ที่เว็บไซต์  http://stt50.scisoc.or.th

Loading

Share this post


เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

ตั้งค่าความเป็นส่วนตัว

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
จัดการความเป็นส่วนตัว
  • เปิดใช้งานตลอด

บันทึกการตั้งค่า