ขอแสดงความยินดีกับทีมผู้ชนะเลิศในการแข่งขัน “หนูน้อยจ้าวเวหา” SR.THREE จากโรงเรียนศิริราษฎร์สามัคคี จ.ปัตตานี ได้รับถ้วยพระราชทานพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว
สำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม ร่วมกับสมาคมกีฬาเครื่องบินจำลองและวิทยุบังคับ สถานีโทรทัศน์ Thai PBS และองค์การบริหารส่วนจังหวัดอุบลราชธานี จัดการแข่งขันเครื่องบินจำลองวิทยุบังคับ รายการ “หนูน้อยจ้าวเวหา” ประเภทยุทธวิธี (Aviation Mastery) ชิงถ้วยพระราชทานพระบาทสมเด็จพระปรเมนทรรามาธิบดี ศรีสินทรมหาวชิราลงกรณ มหิศรภูมิพลราชวรางกูร กิติสิริสมบูรณอดุลยเดช สยามินทราธิเบศรราชวโรดม บรมนาถบพิตร พระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว โดยมี ดร.วิภารัตน์ ดีอ่อง ผู้อำนวยการ สำนักงานการวิจัยแห่งชาติ เป็นประธานในการจัดการแข่งขัน พร้อมด้วยคุณอิสสระ สมชัย อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ คุณกานต์ กัลป์ตินันท์ นายกองค์การบริหารส่วนจังหวัดอุบลราชธานี และคุณพุฒิเมธ พวงจันทึก ผู้อำนวยการ โรงเรียนพิบูลมังสาหาร เป็นผู้อัญเชิญถ้วยพระราชทานพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว สำหรับการจัดการแข่งขันดำเนินการโดยคุณพิศิษฐ์ มิตรเกื้อกูล นายกสมาคมกีฬาเครื่องบินจำลองและวิทยุบังคับ พร้อมคณะ และสถานีโทรทัศน์ Thai PBS ให้การสนับสนุนในการถ่ายทอดสดการแข่งขันดังกล่าว เมื่อวันที่ 14 กรกฎาคม 2567 ณ โรงเรียนพิบูลมังสาหาร จังหวัดอุบลราชธานี
การแข่งขันเครื่องบินจำลองวิทยุบังคับครั้งนี้ มีการถ่ายทอดสดผ่านทางสถานีโทรทัศน์ Thai PBS ในรายการ “หนูน้อยจ้าวเวหา” ประเภทยุทธวิธี (Aviation Mastery) โดยการแข่งขันในรอบต่าง ๆ มีทีมที่ได้รับรางวัลดังนี้
-ทีมชนะเลิศ ได้รับถ้วยพระราชทานพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ได้แก่
ทีม SR. THREE โรงเรียน ศิริราษฎร์สามัคคี จังหวัดปัตตานี
-รองชนะเลิศอันดับหนึ่ง ได้รับถ้วยผู้อำนวยการ สำนักงานการวิจัยแห่งชาติ ได้แก่
ทีมอัสสัมชัญโคราช โรงเรียนอัสสัมชัญนครราชสีมา
-รองชนะเลิศอันดับสอง ได้รับถ้วยนายกองค์การบริหารส่วนจังหวัดอุบลราชธานี ได้แก่
ทีมคนหัวใจสิงห์ ทีม 2 โรงเรียนมัธยมวัดสิงห์
-รองชนะเลิศอันดับสาม ได้รับถ้วยสมาคมกีฬาเครื่องบินจำลองและวิทยุบังคับ ได้แก่
ทีม Drone D. โรงเรียนศรีบุณยานนท์ จังหวัดนนทบุรี
ดร.วิภารัตน์ ดีอ่อง ผู้อำนวยการ สำนักงานการวิจัยแห่งชาติ กล่าวว่า วช. ให้ความสำคัญในการส่งเสริมและบ่มเพาะสมรรถนะเยาวชนด้วยปัญญาประดิษฐ์ โดยนำเทคโนโลยีโดรน มาเสริมทักษะความรู้ด้านซอฟต์แวร์การเขียนโปรแกรมให้กับเยาวชน เพื่อให้มีพัฒนาการของการเรียนรู้ที่ทันสมัยตามเทคโนโลยีในปัจจุบัน และตามนโยบาย อว. for AI
ทั้งนี้ การแข่งขันเครื่องบินจำลองวิทยุบังคับ รายการ “หนูน้อยจ้าวเวหา” จัดขึ้นเพื่อเสริมสร้างความรู้ และพื้นฐานเกี่ยวกับวิทยาศาสตร์การบิน ให้เยาวชนไทยได้มีความคิดริเริ่มสร้างสรรค์ในการคิดค้นสิ่งประดิษฐ์ใหม่ ๆ โดย วช. ได้ให้การสนับสนุนสมาคมกีฬาเครื่องบินจำลองและวิทยุบังคับ จัดการอบรมให้ความรู้การเขียนโปรแกรมซอฟต์แวร์สำหรับการใช้โดรน และการมีเวทีการแข่งขันเครื่องบินจำลอง และวิทยุบังคับเพื่อเปิดโอกาสให้เด็กและเยาวชนได้แสดงความสามารถอย่างเต็มที่ ซึ่งสถานีโทรทัศน์ Thai PBS ได้ส่งเสริมอย่างต่อเนื่อง ภายใต้โครงการและเวทีประลอง “หนูน้อยจ้าวเวหา” ทางสถานีโทรทัศน์ Thai PBS อีกด้วย