กองทุน ววน. โดย บพข. MOU ร่วม 22 หน่วยงานภาครัฐและเอกชน ประกาศเจตนารมณ์ขับเคลื่อนจังหวัดกระบี่ เป็นเมืองท่องเที่ยวคาร์บอนสุทธิเป็นศูนย์ เป็นจังหวัดแรกของไทย
22 หน่วยงานภาครัฐและเอกชน ด้านการท่องเที่ยวระดับประเทศและจังหวัดกระบี่ ลงนามบันทึกข้อตกความร่วมมือประกาศเจตนารมณ์ขับเคลื่อนจังหวัดกระบี่เป็นเมืองท่องเที่ยวคาร์บอนสุทธิเป็นศูนย์ ภายในปี 2583 เป็นจังหวัดแรกของประเทศไทย
เครือข่ายการท่องเที่ยวคาร์บอนสุทธิเป็นศูนย์จังหวัดกระบี่ โดยสมาคมโรงแรมจังหวัดกระบี่ ภายใต้การสนับสนุนของสำนักงานส่งเสริมการจัดประชุมและนิทรรศการ (องค์การมหาชน) ได้จัดกิจกรรม Krabi Carbon Neutral Tourism toward Net-Zero Sustainable Tourism: Road to 2040 เพื่อลงนามในบันทึกข้อตกลงความร่วมมือประกาศเจตนารมณ์ขับเคลื่อนจังหวัดกระบี่ เป็นเมืองท่องเที่ยวคาร์บอนสุทธิเป็นศูนย์ (Krabi Carbon Neutral Tourism 2040) เป็นจังหวัดแรกของประเทศไทย ร่วมกับผู้บริหารสถานประกอบการจากภาครัฐและเอกชน จำนวน 22 หน่วยงาน โดยเป็นเครือข่ายระดับประเทศ 10 หน่วยงาน และระดับจังหวัดอีก 12 หน่วยงาน เมื่อวันที่ 30 พฤษภาคม 2566
โอกาสนี้ คุณภาสกร บุญญลักษม์ ผู้ว่าราชการจังหวัดกระบี่ เป็นประธานในพิธี พร้อมด้วยรองศาสตราจารย์ ดร.สิรี ชัยเสรี ผู้อำนวยการ หน่วยบริหารและจัดการทุนด้านการเพิ่มความสามารถในการแข่งขันของประเทศ (บพข.) ผู้ช่วยศาสตราจารย์ สุภาวดี โพธิยะราช ผู้เชี่ยวชาญอาวุโส สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (สกสว.) ในฐานะผู้แทน ผู้อำนวยการ สกสว. คุณอรุษ นวราช นายกสมาคมผู้บริโภคอินทรีย์ไทย รองศาสตราจารย์ ดร.ศิวฤทธิ์ พงศกรรังศิลป์ รักษาการคณบดีสำนักวิชาการจัดการ มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ ตลอดจนผู้ที่เข้าร่วมลงนาม MOU กับภาคีเครือข่ายระดับประเทศในครั้งนี้ทั้ง 10 หน่วยงาน ได้แก่ องค์การบริหารจัดการก๊าซเรือนกระจก (องค์กรมหาชน) องค์การบริหารการพัฒนาพื้นที่พิเศษเพื่อการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน (องค์การมหาชน) กรมการท่องเที่ยว การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย สำนักงานส่งเสริมการจัดประชุมและนิทรรศการ (องค์การมหาชน) สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม หน่วยบริหารและจัดการทุนด้านการเพิ่มความสามารถในการแข่งขันของประเทศ (บพข.) หอการค้าไทย สมาคมไทยท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์และผจญภัย สมาคมผู้บริโภคอินทรีย์ไทย และมีเครือข่ายด้านการท่องเที่ยวคาร์บอนสุทธิเป็นศูนย์ในจังหวัดกระบี่อีก 12 หน่วยงาน ได้แก่ จังหวัดกระบี่ มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ สมาคมโรงแรมจังหวัดกระบี่ สมาคมธุรกิจการท่องเที่ยวจังหวัดกระบี่ หอการค้าจังหวัดกระบี่ สมาคมการท่องเที่ยวโดยชุมชนจังหวัดกระบี่ สมาคมร้านอาหารจังหวัดกระบี่ สมาคมธุรกิจการท่องเที่ยวเกาะลันตา สมาคมการท่องเที่ยวอ่าวนาง มูลนิธิกระบี่ยั่งยืน ชมรมกระบี่ฮาลาลแอนด์มุสลิมเฟรนด์ลี่ และบริษัท วงษ์พาณิชย์ กระบี่ จำกัดสถานประกอบการในพื้นที่ และสื่อมวลชนร่วมเป็นสักขีพยาน ณ โรงแรมกระบี่รีสอร์ท จังหวัดกระบี่
ปัจจุบันสังคมโลกให้ความสำคัญกับการลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมเป็นอย่างมาก โดยประเทศไทยเป็นส่วนหนึ่งที่ได้แสดงความมุ่งมั่นในการมุ่งสู่ “ความเป็นกลางทางคาร์บอนหรือคาร์บอนสุทธิเป็นศูนย์” ในเวทีประชุมรัฐภาคีกรอบอนุสัญญาฯ สมัยที่ 27 พิธีสารเกียวโต สมัยที่ 17 และความตกลงปารีส สมัยที่ 4 ทำให้ทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้องต้องให้ความสำคัญกับการร่วมดำเนินการสร้างความเป็นกลางทางคาร์บอน ซึ่งการลงนามบันทึกข้อตกร่วมความร่วมมือในครั้งนี้ องค์กรพันธมิตรตกลงร่วมกันทำบันทึกข้อตกลงความร่วมมือเพื่อขับเคลื่อนจังหวัดกระบี่ ให้มุ่งสู่การท่องเที่ยวที่มีการปล่อยคาร์บอนสุทธิเป็นศูนย์ หรือการท่องเที่ยวแบบคาร์บอนนิวทรัล (Carbon Neutral Tourism) ซึ่งอยู่ภายใต้โครงการการขับเคลื่อน Krabi Carbon Neutral Tourism 2040 องค์กรพันธมิตรได้ตระหนักถึงการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (Climate Change) ว่าเป็นปัญหาสำคัญระดับโลกและมีแนวโน้มรุนแรงมากขึ้นเรื่อย ๆ โดยภาคการท่องเที่ยวมีสัดส่วนการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสู่ชั้นบรรยากาศ คิดเป็นร้อยละ 8 ของการปล่อยก๊าซเรือนกระจกทั้งหมดของโลก
สำหรับการลงนาม MOU ในครั้งนี้ จะทำให้เกิดความร่วมมือกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อพัฒนาองค์ความรู้ เครื่องมือและส่งเสริมการใช้ประโยชน์ เพื่อผลักดันการกำหนดนโยบายทำให้การท่องเที่ยวคาร์บอนสุทธิเป็นศูนย์ (Carbon Neutral Tourism) เป็นแนวคิดการจัดการให้เกิดการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืนที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ส่งเสริมการดำเนินการจัดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกโดยการปรับปรุง การบริการด้านการขนส่ง ที่พัก อาหาร กิจกรรมและห่วงโซ่อุปทานอื่น ๆ ที่มีส่วนปล่อยก๊าซเรือนกระจกให้ต่ำลง นำไปสู่การท่องเที่ยวอย่างสมดุลและลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกจากภาคท่องเที่ยว เพื่อให้บรรลุเป้าหมายการท่องเที่ยวคาร์บอนต่ำและการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน ตั้งเป้าให้อุตสาหกรรมการท่องเที่ยวจังหวัดกระบี่มีการปล่อยก๊าซคาร์บอนจากการท่องเที่ยวเป็นศูนย์ใน พ.ศ. 2583
ทั้งนี้ ในช่วงเช้าได้มีการบรรยายพิเศษเรื่อง “บทบาทของการวิจัยในการขับเคลื่อนความสามารถในการแข่งขันของประเทศ” โดย รศ.ดร.สิรี ชัยเสรี ผู้อำนวยการ บพข. และการนำเสนอ “การขับเคลื่อนการท่องเที่ยวคาร์บอนสุทธิเป็นศูนย์จังหวัดกระบี่ ตลอด 1 ทศวรรษของปฏิญญากระบี่ผ่านกระบวนการวิจัย” โดย ผศ.สุภาวดี โพธิยะราช ผศ. ดร.พิมพ์ลภัส พงศกรรังศิลป์ หัวหน้าสถานวิจัย สำนักวิชาการจัดการ มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ ผู้อำนวยการ แผนงานวิจัยการยกระดับมาตรฐานการบริหารจัดการบนฐานอัตลักษณ์และนวัตกรรมที่มุ่งสู่การท่องเที่ยวคาร์บอนสุทธิเป็นศูนย์ในพื้นที่จังหวัดกระบี่และพื้นที่เชื่อมโยง บพข. และคุณกุสุมา กิ่งเล็ก ประธานชมรมกระบี่ฮาลาลแอนด์มุสลิมเฟรนด์ลี่ และผู้ประกอบการ โรงแรมอ่าวนางปริ๊นซ์วิลล์ วิลล่า รีสอร์ทแอนด์สปา
ในช่วงบ่าย มีการเสวนาในประเด็น “การขับเคลื่อนการท่องเที่ยวคาร์บอนสุทธิเป็นศูนย์จังหวัดกระบี่ Krabi Carbon Neutral Tourism 2040” โดยคุณอมฤต ศิริพรจุฑากุล ผู้บริหารร้านเรือนไม้ และที่ปรึกษาสมาคมธุรกิจโรงแรมจังหวัดกระบี่ คุณอันติกา ศรีรักษา ประธานมูลนิธิกระบี่ยั่งยืน คุณวสุมน เนตรกิจเจริญ นายกสมาคมไทยท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์และผจญภัย คุณวัชรี ชูรักษา ผู้ช่วยผู้อำนวยการ องค์การบริหารการพัฒนาพื้นที่พิเศษเพื่อการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน (อพท.) คุณชาญฤทธิ์ เพิ่มทรัพย์ นายกสมาคมการท่องเที่ยวโดยชุมชนจังหวัดกระบี่ และประเด็นการขับเคลื่อนเครือข่ายเกษตรอินทรีย์ที่มุ่งสู่การท่องเที่ยวคาร์บอนสุทธิเป็นศูนย์ โดยคุณอรุษ นวราช นายกสมาคมผู้บริโภคอินทรีย์ไทย
คุณวิชุพรรณ ภูเก้าล้วน ศรีสัญญา นายกสมาคมโรงแรมจังหวัดกระบี่ กล่าวว่า การดำเนินงานในครั้งนี้ นับเป็นส่วนหนึ่งในการดำเนินงานของเครือข่ายการท่องเที่ยวคาร์บอนเป็นศูนย์จังหวัดกระบี่ ที่มีการส่งเสริมและสนับสนุนกิจกรรมที่เกี่ยวข้อง รวมถึงกิจกรรมการประชุมและนิทรรศการที่มุ่งเน้นให้มีการจัดการที่สามารถลดการปล่อยคาร์บอนไดออกไซด์จากการจัดกิจกรรมต่าง ๆ อีกทั้ง การส่งเสริมการชดเชยคาร์บอนจากการจัดกิจกรรมที่จะนำไปสู่การจัดการการท่องเที่ยวคาร์บอนสุทธิเป็นศูนย์จังหวัดกระบี่ การจัดกิจกรรมในครั้งนี้จะเป็นการขยับไปข้างหน้าอีกก้าวหนึ่งของภาคีเครือข่ายการท่องเที่ยวในจังหวัดกระบี่ ที่ร่วมประกาศเจตนารมย์ในวันนี้ โดยการสนับสนุนของ หน่วยบริหารและจัดการทุนด้านการเพิ่มความสามารถในการแข่งขันของประเทศ(บพข.) กองทุนส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม ได้สนับสนุนทุนวิจัยในแผนงานวิจัย การพัฒนาการท่องเที่ยวคาร์บอนสุทธิเป็นศูนย์ในจังหวัดกระบี่และพื้นที่เชื่อมโยง โดยมีผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.พิมพ์ลภัส พงศกรรังศิลป์ ผู้ช่วยศาสตราจารย์ประจำสำนักวิชาการจัดการ มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ เป็นผู้อำนวยการแผนงานวิจัยภายใต้เป้าหมายเพื่อต่อยอดอุตสาหกรรมยุทธศาสตร์และวางรากฐานการพัฒนาเศรษฐกิจภายใต้ แนวคิด เศรษฐกิจชีวภาพ เศรษฐกิจหมุนเวียน และเศรษฐกิจสีเขียว (BCG Economy) โดยกระบวนการวิจัยนำไปสู่การสร้างเครือข่ายการท่องเที่ยวคาร์บอนสุทธิเป็นศูนย์ จังหวัดกระบี่ที่มีการร่วมกันกำหนดเป้าหมายร่วมกันในการเป็น Krabi Carbon Neutral Tourism 2040