กระทรวง อว. โดย สอวช. ร่วมกับ นาโนเทค สวทช. ลงนามความร่วมมือเดินหน้า จัดทำแผนที่นำทางนาโนเทคโนโลยี ส่งเสริมการขับเคลื่อนวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและนวัตกรรมของไทย

กระทรวง อว. โดย สอวช. ร่วมกับ นาโนเทค สวทช. ลงนามความร่วมมือเดินหน้า จัดทำแผนที่นำทางนาโนเทคโนโลยี ส่งเสริมการขับเคลื่อนวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและนวัตกรรมของไทย

กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) โดย สำนักงานสภานโยบายการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมแห่งชาติ (สอวช.) และสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) โดยศูนย์นาโนเทคโนโลยีแห่งชาติ (นาโนเทค) ร่วมลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือทางวิชาการ โครงการจัดทำ “แผนที่นำทางการวิจัยและพัฒนานาโนเทคโนโลยีของประเทศไทย พ.ศ. 2569–2575” ส่งเสริมการขับเคลื่อนระบบวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (ววน.) ของประเทศ และสร้างเครือข่ายด้านนาโนเทคโนโลยี นำร่อง 4 ประเด็นมุ่งเน้น คือ การแพทย์และสุขภาพมูลค่าสูง พลังงานสีเขียวและการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ เกษตรอาหารเพื่อความยั่งยืน ความปลอดภัยและจริยธรรมทางนาโนเทคโนโลยี (Nanosafety & Nanoethics) ตั้งเป้ายกระดับผลงานวิจัยสู่การใช้งานจริงในทุกภาคส่วน เมื่อวันที่ 18 มีนาคม 2568

ศาสตราจารย์ ดร.นายแพทย์สิริฤกษ์ ทรงศิวิไล ประธานคณะกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (กสว.) กล่าวว่า นาโนเทคโนโลยี เป็นหนึ่งในเทคโนโลยี ที่มีบทบาทสำคัญอย่างยิ่งในช่วงหลายทศวรรษที่ผ่านมา การลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือทางวิชาการฯ ในครั้งนี้ ถือเป็นโอกาสที่ดี ในการทบทวนแผนที่นำทางการวิจัยและพัฒนานาโนเทคโนโลยีของประเทศ ให้สอดรับกับเป้าหมายและบริบทของระบบ ววน. ในปัจจุบัน ที่ให้ความสำคัญในการพัฒนาวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมให้สอดคล้องกับเป้าหมายการพัฒนาประเทศ

“สำหรับประเทศไทย นับเป็นเรื่องที่น่ายินดีที่รัฐบาล ได้เล็งเห็นความสำคัญของวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม หรือ ระบบ ววน. และใช้เป็นฟันเฟืองสำคัญในการขับเคลื่อนและพัฒนาประเทศ ทั้งนี้ในปีงบประมาณ พ.ศ. 2569 คณะรัฐมนตรีได้อนุมัติงบด้านการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม กว่า 160,000 ล้านบาท ซึ่งในจำนวนนี้ ได้รวมการพัฒนาวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี การวิจัยและนวัตกรรมระดับขั้นแนวหน้าที่ก้าวหน้าล้ำยุค เชื่อมั่นว่า แผนที่นำทางฉบับนี้ จะเป็นกุญแจสำคัญในการนำพาประเทศไทย ไปสู่การพัฒนาเศรษฐกิจที่ขับเคลื่อนด้วยวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และนวัตกรรมอย่างแท้จริง และเป็นจุดเริ่มต้นที่สำคัญในการขับเคลื่อนงานวิจัยและนวัตกรรม ให้ก้าวหน้าเพื่อสร้างความมั่นคงทางเศรษฐกิจอย่างเป็นรูปธรรม”

ดร.สุรชัย สถิตคุณารัตน์ ผู้อำนวยการ สอวช. ได้นำเสนอบทบาทของ สอวช. ในการขับเคลื่อนนโยบายด้านการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อววน.) โดยเล่าถึงการจัดทำแผนที่นำทางด้านนาโนเทคโนโลยี ร่วมกับ สวทช. ตั้งแต่ยังอยู่ในหน่วยงานเดิม คือสำนักงานคณะกรรมการนโยบายวิทยาศาสตร์เทคโนโลยีและนวัตกรรมแห่งชาติ (สวทน.) เป็นการนำเครื่องมือต่าง ๆ โดยเฉพาะเครื่องมือคาดการณ์อนาคต (Foresight) มาช่วยจัดทำแผนที่นำทางฯ เพื่อหาแนวทางการพัฒนานาโนเทคโนโลยี รวมถึงการขับเคลื่อนเรื่องนี้ว่าควรจะทำอะไร ทำเมื่อไหร่ และจะเกิดผลสำเร็จอย่างไร ซึ่งก่อนหน้านี้ได้มีการจัดแผนที่นำทางฯ มาแล้วรวม 3 เล่ม และที่ผ่านมาพบว่า นาโนเทคโนโลยีเป็นงานที่สร้างให้เกิดผลกระทบสูง และเป็นเทคโนโลยีที่สามารถนำไปใช้ในสถานการณ์จริงได้

การจัดทำแผนที่นำทางฯ ร่วมกันในครั้งนี้ จึงถือเป็นช่วงเวลาที่เหมาะสมในการพัฒนาต่อยอดจากแผนเดิม และยังสามารถเชื่อมโยงเข้ากับแผนใหญ่อื่น ๆ ของประเทศได้ ไม่ว่าจะเป็นแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 14 ที่ สอวช. มีส่วนร่วมในการหารือการจัดทำร่างแผนฯ กับสำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ แผนด้านวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม ที่ทำร่วมกับสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (สกสว.) และแผนด้านการอุดมศึกษา ที่ทำร่วมกับคณะกรรมการอุดมศึกษา (กกอ.) และยังมีกลไกที่สำคัญคือ กองทุนส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม ที่จะช่วยสนับสนุนให้แผนที่จะทำเกิดความสำเร็จได้

“สอวช. มี 2 บทบาท ทั้งการทำงานเป็นเสมือน Think Tank หรือมันสมองของกระทรวง อว. ในเรื่องการทำนโยบาย โดยที่ผ่านมาเราได้ทำงานเชื่อมโยงกับงานของกระทรวง เพื่อให้เกิดผลลัพธ์เป็นไปในแนวทางเดียวกัน และอีกบทบาทคือการเป็นเลขานุการของสภานโยบายการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม ที่จะต้องนำเสนอทิศทางนโยบายและแผนต่าง ๆ ที่ประเทศควรเดินไป ซึ่งประเด็นเรื่องนาโนเทคโนโลยี เป็นเรื่องที่สามารถนำไปเสนอต่อสภานโยบายและเสนอต่อรัฐบาล เพื่อช่วยสนับสนุนในการพัฒนาเศรษฐกิจ สังคม รวมไปถึงสิ่งแวดล้อมในภาพรวมของประเทศได้”

ดร.อุรชา รักษ์ตานนท์ชัย ผู้อำนวยการ ศูนย์นาโนเทคโนโลยีแห่งชาติ (นาโนเทค) สวทช. กล่าวว่า ตลอดระยะเวลาที่ผ่านมา ตั้งแต่ พ.ศ. 2553 ประเทศไทยได้มีการจัดทำแผนที่นำทางการวิจัยและพัฒนานาโนเทคโนโลยี รวมทั้งสิ้น 3 ฉบับ โดยแผนฯ ฉบับที่ 3 ได้สิ้นสุดลงใน พ.ศ. 2564 ซึ่งดำเนินการจัดทำโดยสำนักงานคณะกรรมการนโยบายวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และนวัตกรรมแห่งชาติ (สวทน.) หรือ สอวช. ในปัจจุบัน ร่วมกับศูนย์นาโนเทคโนโลยีแห่งชาติ สวทช. และเครือข่ายพันธมิตร ดังนั้น เพื่อให้การวิจัยพัฒนาและนวัตกรรมด้านนาโนเทคโนโลยีของประเทศไทย สอดรับกับนโยบาย แผนยุทธศาสตร์ระดับชาติ ตลอดจนพันธกิจของภาคอุดมศึกษาและสถาบันวิจัย รวมทั้งตอบสนองต่อความต้องการของภาคอุตสาหกรรม จึงมีความจำเป็นในการทบทวนทิศทางการวิจัยพัฒนาด้านนาโนเทคโนโลยีให้ชัดเจนและทันต่อสถานการณ์ที่เปลี่ยนแปลงไป

โครงการนี้มีวัตถุประสงค์ที่สำคัญ ได้แก่ จัดทำแผนที่นำทางการวิจัยและพัฒนานาโนเทคโนโลยีของประเทศไทย (Thailand Nanotechnology Roadmap) ระยะ 7 ปี (พ.ศ. 2569–พ.ศ. 2575) เพื่อส่งเสริมการขับเคลื่อนระบบวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม และเพื่อสร้างเครือข่ายการวิจัย พัฒนาและนวัตกรรมด้านนาโนเทคโนโลยีของประเทศ ซึ่งประกอบไปด้วยหน่วยงานด้านการวิจัย สถาบันการศึกษา ภาคเอกชนและภาครัฐ ที่จะช่วยต่อยอดและยกระดับผลงานวิจัยด้านนาโนเทคโนโลยีสู่การใช้ประโยชน์ได้จริงในทุกภาคส่วน

“นาโนเทคโนโลยีเป็นเทคโนโลยีแห่งการผลิตในอนาคต และมีศักยภาพในมิติของการเติบโตทางการตลาด แผนที่นำทางการวิจัยและพัฒนานาโนเทคโนโลยีของประเทศไทย พ.ศ. 2569–2575 ที่จะเกิดขึ้นนี้ คาดหวังว่า จะมีบทบาทสำคัญ สามารถประยุกต์ใช้ในอุตสาหกรรมที่หลากหลาย โดยเฉพาะใน 3 อุตสาหกรรมนำร่องคือ การแพทย์และสุขภาพมูลค่าสูง, พลังงานสีเขียวและการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ และเกษตรอาหารเพื่อความยั่งยืน พร้อมยกระดับผลงานวิจัยสู่การใช้งานจริงในทุกภาคส่วน”

ทั้งนี้ หลังจากพิธีลงนามความร่วมมือฯ ยังได้มีการจัดประชุมคณะทำงานการจัดทำแผนที่นำทางการวิจัยและพัฒนานาโนเทคโนโลยีของประเทศไทย พ.ศ. 2569-2575 ครั้งที่ 1/2568 เพื่อเป็นการเริ่มต้นหารือร่วมกันระหว่างหน่วยงาน ให้มองเห็นถึงภาพรวมการทำงานร่วมกันและนำไปสู่การจัดทำแผนที่นำทางฯ ได้ต่อไป

11 Views , 1 views today

Share this post


เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

ตั้งค่าความเป็นส่วนตัว

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

จัดการความเป็นส่วนตัว
  • เปิดใช้งานตลอด

บันทึกการตั้งค่า