กรมวิทยาศาสตร์บริการ MOU สภาการค้าอุตสาหกรรมกัญชงไทย ผนึกกำลังขยายความแข็งแกร่งอุตสาหกรรมกัญชง ขานรับไทยเจ้าภาพ Asia International Hemp Expo 2022
กรมวิทยาศาสตร์บริการ (วศ.) กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) จับมือลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือกับสมาคมการค้าอุตสาหกรรมกัญชงไทย (Thai Industrial Hemp Trade Association : TiHTA) ผลักดันพืชกัญชงสู่พืชเศรษฐกิจและอุตสาหกรรม โดย วศ. เป็นหนึ่งใน 15 หน่วยงานพันธมิตรที่ร่วม MOU ดังกล่าว เพื่อเชื่อมโยงเครือข่ายการใช้ประโยชน์จากพืชกัญชงในภาคอุตสาหกรรมและการแพทย์ และร่วมฉลองนานาชาติให้ความสนใจ และขานรับไทยเป็นเจ้าภาพการจัดงาน “Asia International Hemp Expo 2022” งานแสดงสินค้า การจับคู่ทางธุรกิจ และการประชุมนานาชาติที่ยิ่งใหญ่ที่สุดในเอเชีย โดยได้รับความร่วมมือจาก 25 ประเทศใน 5 ทวีปทั่วโลก ณ ศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ เมื่อวันที่ 16 กันยายน 2565
ดร.นพ.ปฐม สวรรค์ปัญญาเลิศ อธิบดีกรมวิทยาศาสตร์บริการ เผยถึงความร่วมมือกับสมาคมการค้าอุตสาหกรรมกัญชงไทย ครั้งนี้ เพื่อบูรณาการความร่วมมือทางวิชาการ ส่งเสริมอุตสาหกรรมการแปรรูปผลิตภัณฑ์นวัตกรรมจากกัญชง ให้มีคุณภาพและสามารถผลิตแข่งขันได้ในเชิงพาณิชย์ พร้อมสนับสนุนการถ่ายทอดเทคโนโลยีผลงานวิจัยและพัฒนานวัตกรรมทางด้านอาหารแปรรูป วัสดุและผลิตภัณฑ์จากส่วนต่าง ๆ ของพืชกัญชงแก่ผู้ประกอบการ เพื่อเสริมสร้างขีดความสามารถให้แก่บุคลากรซึ่งกันและกัน รวมทั้งการจัดทำร่างมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม โดยใช้กลไก SDO (Standards Developing Organizations) เพื่อการรับรองคุณภาพสินค้าโดยเฉพาะอย่างยิ่ง สินค้านวัตกรรม ที่เป็นการต่อยอดจากงานวิจัยพัฒนาด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี เพื่อให้สามารถจดทะเบียนบัญชีนวัตกรรมไทย และผลิตเพื่อจำหน่ายในระดับอุตสาหกรรมได้ นับเป็นการขับเคลื่อนกัญชงไปสู่พืชเศรษฐกิจใหม่อย่างยั่งยืน
คุณพรชัย ปัทมินทร นายกสมาคมการค้าอุตสาหกรรมกัญชงไทย (TiHTA) เผยว่า จากการผลักดันร่วมกันของภาคผู้ประกอบการในการนำพืชกัญชงมาใช้ประโยชน์ในเชิงอุตสาหกรรมของสมาคมการค้าอุตสาหกรรมกัญชงไทยร่วมกันจริงจังมาเกือบ 2 ปี ตอนนี้เราได้เห็นแล้วความคืบหน้าอย่างมาก ในการนำกัญชงป้อนเข้าสู่ภาคอุตสาหกรรม และวันนี้หลายสถาบัน และสมาคมในอุตสาหกรรมการผลิตที่มาลงนามร่วมกันได้มีการดำเนินงานร่วมกับสมาคมฯ มานานแล้วก็ได้เริ่มมีผลงานวิจัย และต้นแบบผลิตภัณฑ์ ที่ใช้กัญชงเป็นวัตถุดิบออกมาบ้างแล้ว เช่น สถาบันพัฒนาอุตสาหกรรมสิ่งทอ ที่ร่วมกันวิจัยและพัฒนากับสมาชิกสมาคมฯ ออกมาเป็นวัสดุทางการแพทย์ หรือทางสถาบันอาหาร ที่ทำการศึกษาคุณค่าทางโภชนาการและมาตรฐานการนำส่วนของกัญชงไปใช้ประโยชน์ในอุตสาหกรรมอาหารอย่างมีมาตรฐาน
การลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ (MoU) ครั้งนี้ สมาคมการค้าอุตสาหกรรมกัญชงไทย ได้ร่วมลงนามทั้งสิ้น 15 ฉบับ ร่วมกับ (1) กรมวิทยาศาสตร์บริการ กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (2) สถาบันพัฒนาอุตสาหกรรมสิ่งทอ และ(3) สถาบันอาหาร ภายใต้สังกัดกระทรวงอุตสาหกรรม และสมาคมในอุตสาหกรรมการผลิต ได้แก่ (4) สมาคมอุตสาหกรรมเครื่องนุ่งห่มไทย (5) สมาคมเภสัชและอายุรเวชโบราณแห่งประเทศไทย (6) สมาคมไทยคอมโพสิท (7) สมาคมอุตสาหกรรมพลาสติกชีวภาพไทย (8) สมาคมผู้ผลิตยาสมุนไพร (9) สมาคมเฟอร์นิเจอร์ไทย (10) สมาคมธุรกิจไม้ (11) สมาคมของขวัญ ของชำร่วยไทยและของตกแต่งบ้าน (12) สมาคมกาแฟและชาไทย (13) สมาคมผู้ประกอบการสปาไทย (14) สมาคมธุรกิจท่องเที่ยว
โดยมีความมุ่งหมายและการบูรณาการระหว่างสมาคมร่วมกัน เพื่อประโยชน์ต่ออุตสาหกรรมและเชื่อมโยงเครือข่ายเพื่อการเข้าถึงแหล่งวัตถุดิบที่ได้มาตรฐาน การวิจัยและพัฒนาผลิตภัณฑ์ การแลกเปลี่ยนองค์ความรู้ การผลิตที่มีมาตรฐาน ในปริมาณและราคาที่บริหารจัดการได้ล่วงหน้า รวมถึงการสื่อสารประชาสัมพันธ์คุณประโยชน์ของพืชกัญชงอย่างถูกต้อง ให้สอดคล้องกับแต่ละอุตสาหกรรม และสามารถเชื่อมโยงโอกาสทางธุรกิจระหว่างกันของสมาชิกและเครือข่ายเพื่อเชื่อมทุกความเป็นไปได้ ในการทำให้ประเทศไทยเป็นฮับอุตสาหกรรมกัญชงแห่งเอเชีย ผ่านงาน “Asia International Hemp Expo” ซึ่งมีกำหนดจะจัดขึ้นเป็นประจำทุกปี
ภายในงานได้มีกิจกรรมเสวนา “โอกาสของประเทศไทยสู่ศูนย์กลางอุตสาหกรรมกัญชงเอเชีย” โดย ดร.ชาญชัย สิริเกษมเลิศ ผู้อำนวยการ สถาบันพัฒนาอุตสาหกรรมสิ่งทอ คุณอนงค์ ไพจิตรประภาภรณ์ ผู้อำนวยการ สถาบันอาหาร และคุณวีระ ขวัญเลิศจิตต์ ผู้อำนวยการ สถาบันพลาสติก ร่วมแชร์มุมมองถึงศักยภาพของพืชกัญชงสำหรับอุตสาหกรรมต่าง ๆ แนวทางการบริหารจัดการห่วงโซ่อุปสงค์-อุปทาน และองค์ประกอบของประเทศไทยในการมุ่งสู่การเป็นศูนย์กลางกัญชงของเอเชีย