กรมทรัพย์สินทางปัญญา ร่วมกับ ม.ราชภัฏบุรีรัมย์ และหน่วยงานในพื้นที่ จัดประชุมสินค้าสิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ไทย GI ผ้าไหมมัดหมี่ซิ่นตีนแดงบุรีรัมย์
กรมทรัพย์สินทางปัญญาขึ้นทะเบียน “ผ้าไหมมัดหมี่ซิ่นตีนแดงบุรีรัมย์” เป็นสินค้าสิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ตั้งแต่ปี 2558 แต่ปัจจุบันยังไม่มีกลุ่มผู้ผลิตรายใดได้รับตรา มหาวิทยาลัยราชภัฏบุรีรัมย์ ในฐานะที่ปรึกษา จึงจัดประชุมสร้างความเข้าใจในระบบควบคุมคุณภาพและมาตรฐานสินค้าสิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ไทย (Internal Control) สินค้า GI (Geographical IndicationsI) ผ้าไหมมัดหมี่ซิ่นตีนแดงบุรีรัมย์ เพื่อสร้างภูมิพลังแผ่นดิน ในวันที่ 16 กุมภาพันธ์ 2566 เวลา 8.00-12.00 น. ณ ห้องประชุมพุทธรักษา ชั้น 3 อาคารเฉลิมพระเกียรติ 50 พรรษามหาวชิราลงกรณ มหาวิทยาลัยราชภัฏบุรีรัมย์ จังหวัดบุรีรัมย์
คุณไชยวัฒน์ จุนถิระพงศ์ ผู้ว่าราชการจังหวัดบุรีรัมย์ ประธานในพิธีเปิดการประชุม กล่าวถึงความประโยชน์ของตราสิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ หรือ GI ว่าเป็นเสมือนแบรนด์ของท้องถิ่นช่วยส่งเสริมคุณค่า เพิ่มมูลค่าให้กับสินค้า หากผู้ผลิตผ้าไหมมัดหมี่ซิ่นตีนแดงบุรีรัมย์ ซึ่งถือเป็นผ้าไหมเอกลักษณ์ของจังหวัดบุรีรัมย์ ได้รับการอนุญาตให้ใช้จะก่อให้เกิดผลกระทบทางเศรษฐกิจเช่นเดียวกับสินค้า GI ข้าวหอมมะลิดินภูเขาไฟบุรีรัมย์ ที่ปัจจุบันมีผู้ที่ได้รับตรา GI มากถึง 733 ราย จังหวัดบุรีรัมย์ ให้ความสำคัญของโครงการนี้พร้อมให้การสนับสนุนหน่วยงานในระดับพื้นที่และในระดับจังหวัด
รองศาสตราจารย์มาลิณี จุโฑปะมา อธิการบดี มหาวิทยาลัยราชภัฏบุรีรัมย์ เปิดเผยว่า ผ้าไหมมัดหมี่ซิ่นตีนแดงบุรีรัมย์ ถือเป็นผ้าไหมเอกลักษณ์ของจังหวัดบุรีรัมย์ เป็นผ้าไหมทอมือมีลายเกิดจากการมัดหมี่ สมัยโบราณทอด้วยฟืมเล็กแล้วนำมาต่อหัวซิ่นและตีนซิ่นเป็นสีแดงสด ปัจจุบันมีการทอต่อเนื่องเป็นผืนเดียวกัน ผ้าไหมมัดหมี่ซิ่นตีนแดงทอขึ้นครั้งแรกเมื่อราว 200 กว่าปีมาแล้ว โดยช่างฝีมือทอผ้าในคุ้มของพระยาเสนาสงคราม (เจ้าเมืองคนแรกของเมืองพุทไธสง) ต่อมาได้แพร่ขยายสู่หมู่บ้านใกล้เคียง ปัจจุบันผลิตมากที่ อ.พุทไธสง อ.นาโพธิ์ และ อ.บ้านใหม่ไชยพจน์ รวมถึงอำเภออื่นในจังหวัดบุรีรัมย์ จังหวัดบุรีรัมย์ได้ขอขึ้นทะเบียนและกรมทรัพย์สินทางปัญญาได้ขึ้นทะเบียน “ผ้าไหมมัดหมี่ซิ่นตีนแดงบุรีรัมย์” เป็นสินค้าสิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ ตั้งแต่วันที่ 2 สิงหาคม พ.ศ. 2558 แต่ปัจจุบันยังไม่มีผู้ผลิตรายใดได้รับอนุญาตใช้ตรา GI กรมทรัพย์สินทางปัญญาจึงมอบภารกิจสำคัญให้มหาวิทยาลัยราชภัฏบุรีรัมย์ ในฐานะที่ปรึกษา จัดทำระบบควบคุมคุณภาพและมาตรฐานสินค้าสิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ไทย (Internal Control) สินค้าผ้าไหมมัดหมี่ซิ่นตีนแดงบุรีรัมย์ คือระบบควบคุมคุณภาพของสินค้าด้วยคนในพื้นที่ ได้แก่ ควบคุมโดยกลุ่มผู้ผลิต คณะกรรมการระดับพื้นที่ และคณะกรรมการระดับจังหวัด ซึ่งมาจากหน่วยงานภาครัฐและเอกชนที่เกี่ยวข้องในพื้นที่ ภายใต้เงื่อนไขการปฏิบัติตามคู่มือปฏิบัติงานสำหรับกลุ่มผู้ผลิต และกลุ่มผู้ประกอบการค้า ลำดับขั้นตอนที่มีการควบคุมคุณภาพตั้งแต่ต้นน้ำคือ วัตถุดิบที่ต้องใช้เส้นไหมในพื้นที่จังหวัดบุรีรัมย์ หรือภาคอีสาน กลางน้ำคือ กระบวนการผลิตซึ่งต้องอาศัยภูมิปัญญาของช่างฝีมือในจังหวัดบุรีรัมย์ และปลายน้ำคือ การจัดจำหน่ายที่ต้องมีการติดตรา GI กรณีกลุ่มที่ได้การรับรองแล้ว รวมถึงการบันทึกข้อมูลเพื่อการตรวจสอบย้อนหลังได้ โดยมีกลไกการตรวจสอบจากคณะกรรมการจาก 16 หน่วยงาน ซึ่งคณะกรรมการระดับพื้นที่มีนายอำเภอในพื้นที่ที่ผู้ขอใช้ตรา GI เป็นประธานกรรมการทำหน้าที่ลงตรวจสอบ ณ สถานที่ผลิต และคณะกรรมการระดับจังหวัดซึ่งมีผู้ว่าราชการจังหวัดเป็นประธานประชุมพิจารณาเห็นชอบและเสนอให้กรมทรัพย์สินทางปัญญาอนุญาตใช้ตรา GI
รองศาสตราจารย์สมบัติ ประจญศานต์ คณะที่ปรึกษาของมหาวิทยาลัยราชภัฏบุรีรัมย์ เปิดเผยว่า ครั้งนี้มีกลุ่มผู้ผลิตและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในพื้นที่ร่วมมือกับ 16 หน่วยงานทั้งภาครัฐและเอกชนในจังหวัดบุรีรัมย์ อาทิ สนง.พาณิชย์จังหวัดบุรีรัมย์ ศูนย์หม่อนไหมเฉลิมพระเกียรติฯ บุรีรัมย์ สนง.เกษตรจังหวัดบุรีรัมย์ สนง.เกษตรและสหกรณ์จังหวัดบุรีรัมย์ สนง.พัฒนาชุมชนจังหวัดบุรีรัมย์ สนง.อุตสาหกรรมจังหวัดบุรีรัมย์ สนง.วัฒนธรรมจังหวัดบุรีรัมย์ ที่ว่าการอำเภอในจังหวัดบุรีรัมย์ รวมถึงเครือข่ายผู้ประกอบการ OTOP จังหวัดบุรีรัมย์ เข้าร่วมประชุม โดยมีวัตถุประสงค์ของการประชุมเพื่อสร้างความเข้าใจผลักดันให้กลุ่มผู้ผลิตที่มีคุณภาพสามารถเข้าสู่กระบวนการขอใช้ตรา GI สินค้าผ้าไหมมัดหมี่ซิ่นตีนแดงบุรีรัมย์ เข้าใจถึงขั้นตอนวิธีการ โดยมีการประชาสัมพันธ์โครงการ บรรยายจากคุณจิตติมา กลิ่นสุวรรณ และคุณสรชา เจษฎาภัทรกุล วิทยากรจากกรมทรัพย์สินทางปัญญา ชี้แจงรายละเอียด รับฟังความคิดเห็นและรับรองคู่มือปฏิบัติงานและแผนการควบคุมตรวจสอบ โดยในการประชุมครั้งนี้มีประธานกลุ่มทอผ้าที่เข้าประชุมจำนวน 54 กลุ่ม และประสงค์ส่งแบบขอรับอนุญาตใช้ตรา GI จำนวน 31 ราย คิดเป็น 57% แบ่งเป็นแบบรายเดี่ยว 21 ราย และแบบกลุ่ม 10 ราย โดยมีแผนลงตรวจประเมิน ณ ที่ตั้งของกลุ่มผู้ผลิตโดยคณะกรรมการระดับพื้นที่ ราวเดือนมีนาคมถึงเมษายน 2566 ต่อไป สำหรับผู้ผลิตที่ผ่านเกณฑ์ประเมินจะสามารถนำเสนอต่อที่ประชุมการพิจารณาเห็นชอบโดยคณะกรรมการระดับจังหวัด และเสนอต่อกรมทรัพย์สินทางปัญญาเพื่ออนุญาตใช้ตรา GI เป็นลำดับต่อไป