กรมทรัพย์สินทางปัญญา ร่วมกับ ม.ราชภัฏบุรีรัมย์ เตรียมจัดประชุมสินค้าสิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ไทย GI ผ้าไหมมัดหมี่ซิ่นตีนแดงบุรีรัมย์

กรมทรัพย์สินทางปัญญา ร่วมกับ ม.ราชภัฏบุรีรัมย์ เตรียมจัดประชุมสินค้าสิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ไทย GI ผ้าไหมมัดหมี่ซิ่นตีนแดงบุรีรัมย์

กรมทรัพย์สินทางปัญญาขึ้นทะเบียน “ผ้าไหมมัดหมี่ซิ่นตีนแดงบุรีรัมย์” เป็นสินค้าสิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ตั้งแต่ปี 2558 แต่ปัจจุบันยังไม่มีกลุ่มผู้ผลิตรายใดได้รับตรา มหาวิทยาลัยราชภัฏบุรีรัมย์ ในฐานะที่ปรึกษา  ร่วมทำงานกับหน่วยงานภาครัฐและเอกชนในพื้นที่ขับเคลื่อนผลักดันให้กลุ่มผู้ผลิตที่มีคุณภาพสามารถได้รับตรา GI

รองศาสตราจารย์สมบัติ ประจญศานต์ คณะที่ปรึกษาของมหาวิทยาลัยราชภัฏบุรีรัมย์ เปิดเผยว่า ผ้าไหมมัดหมี่ซิ่นตีนแดงบุรีรัมย์ถือเป็นผ้าไหมเอกลักษณ์ของจังหวัดบุรีรัมย์ เป็นผ้าไหมทอมือมีลายเกิดจากการมัดหมี่ สมัยโบราณทอด้วยฟืมเล็กแล้วนำมาต่อหัวซิ่นและตีนซิ่นเป็นสีแดงสด ปัจจุบันมีการทอต่อเนื่องเป็นผืนเดียวกัน ผ้าไหมมัดหมี่ซิ่นตีนแดงทอขึ้นครั้งแรกเมื่อราว 200 กว่าปีมาแล้ว โดยช่างฝีมือทอผ้าในคุ้มของพระยาเสนาสงคราม (เจ้าเมืองคนแรกของเมืองพุทไธสง) ต่อมาได้แพร่ขยายสู่หมู่บ้านใกล้เคียง ปัจจุบันผลิตมากที่ อ.พุทไธสง อ.นาโพธิ์ และ อ.บ้านใหม่ไชยพจน์ รวมถึงอำเภออื่นในจังหวัดบุรีรัมย์ จังหวัดบุรีรัมย์ได้ขอขึ้นทะเบียนและกรมทรัพย์สินทางปัญญาได้ขึ้นทะเบียน “ผ้าไหมมัดหมี่ซิ่นตีนแดงบุรีรัมย์” เป็นสินค้าสิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์  ตั้งแต่วันที่ 2 สิงหาคม พ.ศ. 2558 แต่ปัจจุบันยังไม่มีผู้ผลิตรายใดได้รับอนุญาตใช้ตรา GI

กรมทรัพย์สินทางปัญญาจึงมอบภารกิจสำคัญให้มหาวิทยาลัยราชภัฏบุรีรัมย์ ในฐานะที่ปรึกษา จัดทำระบบควบคุมคุณภาพและมาตรฐานสินค้าสิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ไทย (Internal Control)  สินค้าผ้าไหมมัดหมี่ซิ่นตีนแดงบุรีรัมย์ คือระบบควบคุมคุณภาพของสินค้าด้วยคนในพื้นที่ ได้แก่ ควบคุมโดยกลุ่มผู้ผลิต คณะกรรมการระดับพื้นที่ และคณะกรรมการระดับจังหวัดซึ่งมาจากหน่วยงานภาครัฐและเอกชนที่เกี่ยวข้องในพื้นที่ ภายใต้เงื่อนไขการปฏิบัติตามคู่มือปฏิบัติงานสำหรับกลุ่มผู้ผลิต และกลุ่มผู้ประกอบการค้า ลำดับขั้นตอนที่มีการควบคุมคุณภาพตั้งแต่ต้นน้ำคือวัตถุดิบที่ต้องใช้เส้นไหมในพื้นที่จังหวัดบุรีรัมย์ หรือภาคอีสาน กลางน้ำคือกระบวนการผลิตซึ่งต้องอาศัยภูมิปัญญาของช่างฝีมือในจังหวัดบุรีรัมย์ และปลายน้ำคือการจัดจำหน่ายที่ต้องมีการติดตรา GI กรณีกลุ่มที่ได้การรับรองแล้ว  รวมถึงการบันทึกข้อมูลเพื่อการตรวจสอบย้อนหลังได้ โดยมีกลไกการตรวจสอบจากคณะกรรมการจาก 16 หน่วยงาน ซึ่งคณะกรรมการระดับพื้นที่มีนายอำเภอในพื้นที่ที่ผู้ขอใช้ตรา GI เป็นประธานกรรมการทำหน้าที่ลงตรวจสอบ ณ สถานที่ผลิต  และคณะกรรมการระดับจังหวัดซึ่งมีผู้ว่าราชการจังหวัดเป็นประธานประชุมพิจารณาเห็นชอบและเสนอให้กรมทรัพย์สินทางปัญญาอนุญาตใช้ตรา GI

รองศาสตราจารย์มาลิณี จุโฑปะมา อธิการบดีมหาวิทยาลัยราชภัฏบุรีรัมย์ เปิดเผยว่า กรมทรัพย์สินทางปัญญาร่วมกับมหาวิทยาลัยราชภัฏบุรีรัมย์ เตรียมจัดประชุมสร้างความเข้าใจในระบบควบคุมคุณภาพและมาตรฐานสินค้าสิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ไทย (Internal Control)  สินค้า GI (Geographical IndicationsI) ผ้าไหมมัดหมี่ซิ่นตีนแดงบุรีรัมย์ เพื่อสร้างภูมิพลังแผ่นดิน ในวันที่ 16 กุมภาพันธ์ 2566 เวลา 8.00-12.00 น. ณ ห้องประชุมพุทธรักษา ชั้น 3 อาคารเฉลิมพระเกียรติ 50 พรรษามหาวชิราลงกรณ มหาวิทยาลัยราชภัฏบุรีรัมย์ จังหวัดบุรีรัมย์

โดยมีกลุ่มผู้ผลิตและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในพื้นที่ร่วมมือกับ 16 หน่วยงานทั้งภาครัฐและเอกชนในจังหวัดบุรีรัมย์ อาทิ  สนง.พาณิชย์จังหวัดบุรีรัมย์  ศูนย์หม่อนไหมเฉลิมพระเกียรติฯ บุรีรัมย์  สนง.เกษตรจังหวัดบุรีรัมย์  สนง.เกษตรและสหกรณ์จังหวัดบุรีรัมย์ สนง.พัฒนาชุมชนจังหวัดบุรีรัมย์ สนง.อุตสาหกรรมจังหวัดบุรีรัมย์ สนง.วัฒนธรรมจังหวัดบุรีรัมย์  ที่ว่าการอำเภอในจังหวัดบุรีรัมย์ รวมถึงเครือข่ายผู้ประกอบการ  OTOP  จังหวัดบุรีรัมย์  หอการค้าจังหวัดบุรีรัมย์ และสภาอุตสาหกรรมจังหวัดบุรีรัมย์     จำนวนกว่า 120 คนเข้าร่วมประชุมโดยมีประธานในพิธีโดยท่าน ไชยวัฒน์ จุนถิระพงศ์ ผู้ว่าราชการจังหวัดบุรีรัมย์  วัตถุประสงค์ของการประชุมเพื่อสร้างความเข้าใจผลักดันให้กลุ่มผู้ผลิตที่มีคุณภาพสามารถเข้าสู่กระบวนการขอใช้ตรา GI สินค้าผ้าไหมมัดหมี่ซิ่นตีนแดงบุรีรัมย์ เข้าใจถึงขั้นตอนวิธีการ โดยมีการประชาสัมพันธ์โครงการ ชี้แจงรายละเอียด รับฟังความคิดเห็นตามคู่มือปฏิบัติงานและแผนการควบคุมตรวจสอบ จากวิทยากรของกรมทรัพย์สินทางปัญญาและคณะที่ปรึกษา ท้ายของการประชุมจะมีการรับสมัครผู้ผลิตที่ประสงค์ขอใช้ตราสิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์  สินค้าผ้าไหมมัดหมี่ซิ่นตีนแดงบุรีรัมย์ เพื่อรับการตรวจประเมินโดยคณะกรรมการระดับพื้นที่ และการพิจารณาเห็นชอบโดยคณะกรรมการระดับจังหวัดต่อไป

Loading

Share this post


เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

ตั้งค่าความเป็นส่วนตัว

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
จัดการความเป็นส่วนตัว
  • เปิดใช้งานตลอด

บันทึกการตั้งค่า