“กทปส.” เตรียมจัดสรรทุน 1.5 พันล้าน หนุน “โครงการกระจายเสียง – โทรทัศน์ – โทรคมนาคม” สร้างประโยชน์สาธารณะปี 67

“กทปส.” เตรียมจัดสรรทุน 1.5 พันล้าน หนุน “โครงการกระจายเสียง – โทรทัศน์ – โทรคมนาคม” สร้างประโยชน์สาธารณะปี 67

กองทุนวิจัยและพัฒนากิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคม เพื่อประโยชน์สาธารณะ หรือ กทปส. เดินหน้าผลักดันกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมสร้างประโยชน์ในเชิงสาธารณะ ชี้ในปีที่ผ่านมา กทปส. ได้สนับสนุนโครงการมากกว่า 500 โครงการ พร้อมเตรียมกำหนดกรอบการจัดสรรเงินกองทุนปี 2567 โดยแบ่งเป็นทุน 3 ประเภทคือ ทุนประเภทที่ 1 ทุนแบบเปิดกว้าง ภายใต้กรอบวงเงิน 300 ล้านบาท ทุนประเภทที่ 2 เป็นทุนตามนโยบายคณะกรรมการบริหารกองทุน ซึ่งแบ่งเป็น 2 ประเภท ได้แก่ ทุนมุ่งเป้า กำหนดกรอบจัดสรรไว้ที่ 600 ล้านบาท และทุนต่อเนื่องกำหนดไว้ที่ 100 ล้านบาท และ ทุนให้กับกองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ ซึ่งกำหนดกรอบวงเงินไว้ที่ 500 ล้านบาท

โดย กทปส. ยังได้จัดนิทรรศการ “กสทช. เสริมสร้างความรู้ ส่งทุนสร้างสิ่งดีดี” เพื่อเป็นต้นแบบและแรงบันดาลใจในการยกระดับคลื่นความถี่ การกระจายเสียง โทรทัศน์ และโทรคมนาคมที่สร้างประโยชน์สู่สาธารณะ กับสาธารณะ ผ่านการเผยแพร่ผลงานโครงการที่ได้รับทุนสนับสนุนจาก กทปส. มาร่วมจัดแสดง จำนวน 11 โครงการ

ศาสตราจารย์คลินิก นพ.สรณ บุญใบชัยพฤกษ์ ประธานกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ เปิดเผยว่า การผลักดันโครงสร้างบริการกิจการด้านกระจายเสียง โทรทัศน์ และโทรคมนาคม เพื่อสร้างโอกาสให้ประชาชนทุกภาคส่วนสามารถได้รับบริการอย่างทั่วถึงและเท่าเทียม มีความสำคัญอย่างมากต่อการสร้างอนาคตประเทศ โดยการจะทำให้เป้าหมายดังกล่าวเกิดขึ้น ปัจจัยที่ต้องคำนึงถึงมากที่สุดในยุคดิจิทัล คือต้องเน้นการสร้างนวัตกรรมหรือเทคโนโลยีที่ตรงกับบริบทที่เปลี่ยนแปลง สอดรับกับปัญหาที่เกิดขึ้นจริง สิ่งที่พัฒนาขึ้นต้องสามารถอยู่ได้ในระยะยาว และแบ่งปันไปยังกลุ่มต่าง ๆ ที่มีความต้องการที่ใกล้เคียงกันได้ นอกจากนี้ยังต้องเป็นสะพานเชื่อมให้ผู้ใช้ก้าวทันกับเทคโนโลยี – ดิจิทัลที่ก้าวหน้า ก่อให้เกิดมูลค่า และเป็นช่องทางที่เปิดโอกาสให้ทุกคนสามารถเข้ามามีส่วนร่วมเพื่อพัฒนาสิ่งต่าง ๆ ไปด้วยกัน

“ที่ผ่านมา รวมทั้งในปี 2567 กสทช.ในฐานะผู้จัดสรรคลื่นความถี่ให้เกิดประโยชน์ในทุกมิติเล็งเห็นถึงความสำคัญที่จะต้องนำคลื่นความถี่ พร้อมด้วยเทคโนโลยีในกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคม มาสร้างประโยชน์ให้ได้อย่างทั่วถึง ซึ่งในมิติทางเศรษฐกิจ ภาคส่วนที่เกี่ยวข้องไม่ว่าจะเป็นภาคเอกชน และกลุ่มผู้ประกอบการมีศักยภาพทางการแข่งขันและพัฒนาการที่ดีอย่างต่อเนื่อง ส่วนในมิติประโยชน์สาธารณะยังจำเป็นต้องส่งเสริมให้มีความหลากหลายและเป็นไปอย่างครอบคลุม ซึ่งสิ่งที่ กสทช. กำลังดำเนินอยู่ในขณะนี้คือได้มอบหมายให้กองทุนวิจัยและพัฒนากองทุนวิจัยและพัฒนา กิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมเพื่อประโยชน์สาธารณะ หรือ กทปส. เร่งสนับสนุนกลุ่มนักวิจัย นักพัฒนา และผู้ประกอบการที่มีความสามารถสรรสร้างเทคโนโลยีใหม่ ๆ เพื่อเติมเต็มให้กับพื้นที่ต่าง ๆ ให้ได้อย่างต่อเนื่อง

โดยในปีที่ผ่านมาถือว่าประสบความสำเร็จทั้งในด้านการส่งเสริมงานวิจัย นวัตกรรมด้านเทคโนโลยี สิ่งอำนวยความสะดวก ผู้สูงอายุ ผู้พิการ รวมถึงการฝึกอบรมบุคลากร การรู้เท่าทันสื่อของกลุ่มเปราะบาง กลุ่มผู้ด้อยโอกาส ซึ่งมีประชาชนคนไทยที่เข้าถึงเทคโนโลยีที่สนับสนุนเหล่านี้ได้สะท้อนให้เห็นถึงความสนใจของผู้วิจัยและนักพัฒนาที่ต้องการผลักดันการสร้างประโยชน์สาธารณะ และใช้คลื่นความถี่ให้เกิดความยั่งยืน”

สำหรับแนวทางการจัดสรรเงินกองทุนในปี 2567 เบื้องต้นคณะกรรมการบริหารกองทุน ได้มีมติเรื่องการกำหนดกรอบการจัดสรรเป็นที่เรียบร้อยแล้ว อยู่ระหว่างนำเสนอกรอบการจัดสรรเงินดังกล่าวให้ กสทช. พิจารณา โดยมีการกำหนดกรอบวงเงินในการจัดสรรเงินทุนแต่ละประเภท คือ ทุนประเภทที่ 1 ทุนแบบเปิดกว้าง (Open Grant) 300 ล้านบาท ทุนประเภทที่ 2 เป็นทุนตามนโยบายคณะกรรมการบริหารกองทุน โดยแบ่งเป็น 2 ประเภท ได้แก่ ทุนมุ่งเป้า (Strategic Grant) 600 ล้านบาท และทุนต่อเนื่อง 100 ล้านบาท และทุนประเภทสุดท้ายคือ ทุนให้กับกองทุนพัฒนาสื่อสร้างสรรค์ ซึ่งกำหนดกรอบวงเงินไว้ที่ 500 ล้านบาท

ทั้งนี้ เพื่อเป็นการสร้างแรงบันดาลใจให้แก่นักวิจัยและพัฒนาโครงการที่เกี่ยวเนื่องกับกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมเพื่อประโยชน์ต่อสาธารณะที่สนใจขอรับทุน กทปส. จึงได้จัดนิทรรศการแสดงผลงานโครงการที่ได้รับทุนสนับสนุนจาก กทปส. โดยคัดเลือก 11 โครงการไฮไลต์มาร่วมจัดแสดง ประกอบด้วย

-โครงการสารคดีชุด “SOME ONE หนึ่งในหลาย” พัฒนาโดยบริษัท สื่อดลใจ จำกัด

-โครงการขยายผลศูนย์บริการอินเทอร์เน็ตเพื่อสังคมด้อยโอกาสในกลุ่มบ้านสาขาบนพื้นที่สูง พัฒนาโดยมูลนิธิวิสาหกิจพลังงานชุมชน

-โครงการพัฒนาแพลตฟอร์มไอโอทีสำหรับการเฝ้าระวังไฟป่าและมลพิษทางอากาศด้วยเทคโนโลยีโลล่า พัฒนาโดยสถาบันเทคโนโลยีแห่งเอเชีย

-โครงการการศึกษาและพัฒนาหอฟอกอากาศอัจฉริยะโดยใช้พลังงานแสงอาทิตย์และระบบควบคุมดูแลผ่านเทคโนโลยีไอโอที เพื่อการลดฝุ่นละอองขนาดเล็ก (PM 2.5) ในพื้นที่สาธารณะ พัฒนาโดยบริษัท ไทยโซลาร์เวย์ จำกัด

-โครงการพัฒนาระบบแจ้งเตือนล่วงหน้าและระบุตำแหน่งการเผาในที่โล่ง โดยใช้โครงข่ายสื่อสาร อุปกรณ์เซ็นเซอร์ และอากาศยานซึ่งไม่มีนักบิน พัฒนาโดยสำนักงานพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ (องค์การมหาชน)

-โครงการการยกระดับการตรวจพิสูจน์ทางนิติวิทยาศาสตร์คดีความผิดทางเพศ ด้วยระบบปัญญาประดิษฐ์ หน่วยงาน พัฒนาโดยคณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล

-โครงการระบบบริหารข้อมูลนำชมพิพิธภัณฑ์แบบพกพา เพื่อรองรับการใช้งานในพื้นที่จัดแสดงซึ่งมีข้อจำกัดด้านสัญญาณอินเตอร์เน็ต พัฒนาโดยศูนย์เทคโนโลยีอิเล็กทรอนิกส์และคอมพิวเตอร์แห่งชาติ สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ

-โครงการรายการ กระต่ายตื่นรู้ พัฒนาโดยบริษัท จีเอ็มเอ็ม แกรมมี่ จำกัด (มหาชน)

-โครงการฝึกอบรม The Metaverse โลกเสมือนจริง ที่กลายเป็นโลกสมจริง พัฒนาโดยมหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์

-โครงการยกระดับและปรับปรุงห้องปฏิบัติการเพื่อพัฒนาบุคลากรให้พร้อมเข้าสู่ยุคเศรษฐกิจและสังคมดิจิทัล พัฒนาโดยวิทยาลัยอุตสาหกรรมการบินนานาชาติ สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง

-โครงการขยายผลระบบติดตามและอุปกรณ์ช่วยเหลือผู้สูงอายุหรือผู้ป่วยในการทำกายภาพบำบัดผ่านเครือข่ายสื่อสาร สำหรับประโยชน์สาธารณะ พัฒนาโดยมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ ซึ่งโครงการนี้เองสร้างชื่อเสียงให้กับประเทศไทยโดยได้รับรางวัลระดับโลก

นอกจากนี้ ภายในงานยังมีการให้ความรู้ในหัวข้อ กทปส. สู่จักรวาลนฤมิตร (Metaverse) หัวข้อ การออกแบบสำหรับทุกคนด้วยแนวคิด “ไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง” เพื่อสร้างสังคมที่เข้าถึงได้ทุกคน และหัวข้อ การจัดการปัญหาเมือง ด้วยแอปพลิเคชันทราฟฟี่ฟองดูว์ : Traffy Fondue เป็นต้น

รองศาสตราจารย์ชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ที่มาขึ้นเวทีกล่าวว่า กรุงเทพฯ เป็นหน่วยงานหนึ่งที่นำแอปพลิเคชันทราฟฟี่ฟองดูว์ : Traffy Fondue มารับแจ้งปัญหาและช่วยบริหารจัดการเมือง โดยเทคโนโลยีนี้ได้รับทุนจาก กทปส. และถูกพัฒนาขึ้นโดย NECTEC หรือศูนย์เทคโนโลยีอิเล็กทรอนิกส์และคอมพิวเตอร์แห่งชาติ ที่นับเป็นความสำเร็จอย่างสูงในการทำให้ประชาชน และหน่วยงานผู้แก้ปัญหาสามารถเชื่อมต่อกันได้อย่างเป็นระบบและทำให้การพัฒนาองค์ประกอบต่าง ๆ ของเมืองเป็นไปอย่างทั่วถึง

โดยตั้งแต่ได้เริ่มใช้ทราฟฟี่ฟองดูว์มีผลลัพธ์ 9 ดี คือ ปลอดภัยดี อาทิ แก้ไขปัญหาไฟฟ้าดับได้ 28,000 ดวง ติดตั้งกล้องป้องกันภัยอาชญากรรมกว่า 60,000 กล้อง โปร่งใสดี ที่มีการแก้ไขปัญหาฟองดูว์ได้กว่า 200,000 เรื่อง จากเรื่องที่แจ้งเข้ามา 1 ปีกว่า กว่า 400,000 เรื่อง รวมถึงมิติอื่น ๆ ทั้ง เศรษฐกิจดี เดินทางดี สิ่งแวดล้อมดี เช่น การบรรเทาปัญหาขยะและความสะอาด การเทอาหารลงท่อระบายน้ำ ที่สามารถแก้ไขได้อย่างทันที อีกทั้งยังมีมิติอื่น ๆ ทั้ง สุขภาพดี สังคมดี เรียนดี และ บริหารจัดการดี นอกจากนี้ ยังมีอรรถประโยชน์ที่นอกเหนือจากการร้องเรียน คือช่วยประเมินการทำงานของเจ้าหน้าที่ในแต่ละพื้นที่ ซึ่งผลจากการประเมินเป็นภาพสะท้อนที่มาจากการทำงานจริง

สำหรับผู้ที่สนใจข้อมูลเพิ่มเติม สามารถสอบถามข้อมูลได้ที่ กองทุนวิจัยและพัฒนาฯ ถนนวิภาวดีรังสิต กรุงเทพฯ โทรศัพท์ 02-554-8124 หรือติดตามความเคลื่อนไหวของ กทปส. ได้ที่ https://btfp.nbtc.go.th และ www.facebook.com/BTFPNEWS

Loading

Share this post


เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

ตั้งค่าความเป็นส่วนตัว

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
จัดการความเป็นส่วนตัว
  • เปิดใช้งานตลอด

บันทึกการตั้งค่า